เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/844
วันที่: 18 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การคำนวณรายจ่ายกรณีการประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315)
ข้อหารือ          บริษัทฯ แจ้งว่า ประกอบธุรกิจ ซื้อ ขาย และให้เช่ารถยนต์ บริษัทฯ ได้ขอหารือเกี่ยวกับธุรกิจให้เช่ารถยนต์นั่ง ที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำ ไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการซื้อรถยนต์นั่งเพื่อนำมาให้เช่า บริษัทฯ ต้องบันทึกเป็นเครดิตภาษีซื้อ และสามารถนำไปหัก ออกจากภาษีขาย ถูกต้องหรือไม่
          2. กรณีบริษัทฯ มิได้นำไปใช้เป็นเครดิตภาษีซื้อ รายการดังกล่าว ไม่สามารถนำไปบันทึกเป็นรายจ่ายเพื่อ การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช่หรือไม่
          3. ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการ คำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 ลงวันที่13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 นั้น ไม่ให้นำมูลค่าของรถยนต์นั่งส่วน ที่เกินหนึ่งล้านบาทไปใช้ ยกเว้นกรณีของบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจ ซื้อ ขาย และให้เช่ารถยนต์ ซึ่งหมายความว่า
               3.1 กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์นั่งที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งล้านบาทมาเพื่อให้เช่า บริษัทฯ ต้องคำนวณ ค่าเสื่อมราคาจากต้นทุนในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทเท่านั้น ต่อเมื่อบริษัทฯ ได้จำหน่ายรถยนต์ดังกล่าว จึงสามารถ นำมูลค่าส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาทนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในรอบบัญชีที่ได้ทำการจำหน่าย ถูกต้องหรือไม่
               3.2 กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่า (Leasing) รถยนต์จากบริษัทลิสซิ่งอื่น เพื่อนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้เช่ารถยนต์นั้น ค่าเช่าที่บริษัทฯ ต้องชำระตามสัญญาเช่าดังกล่าว บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน โดยได้รับยกเว้นไม่ถูกจำกัดไว้ที่สามหมื่นหกพันบาทต่อเดือน หรือหนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวัน เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ซึ่งได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1. และ 2. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเช่ารถยนต์ โดยรถยนต์ที่ให้เช่าเป็นรถยนต์นั่งและ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มีไว้เพื่อการให้บริการเช่ารถยนต์ ของบริษัทฯ เองโดยตรง ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำมาหัก ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีซื้อสำหรับรถยนต์ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และบริษัทฯ จะนำภาษีซื้อสำหรับรถยนต์ดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ไม่ได้ ทั้งนี้ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตาม 3.1 บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยได้ซื้อรถยนต์ที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งล้านบาทมาเพื่อการให้เช่า บริษัทฯ มีสิทธิหัก ค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และมีสิทธินำ มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินดังกล่าวที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวล รัษฎากร มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ได้ตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540
          3. กรณีตาม 3.2 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่า (Leasing) รถยนต์แบบลิสซิ่งเพื่อนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้เช่ารถยนต์นั้น รายจ่ายค่าเช่าดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคันละ สามหมื่นหกพันบาทต่อเดือน ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540
เลขตู้: 71/35719

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020