เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/842
วันที่: 18 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายค่าบริหารการจัดการไปต่างประเทศ์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ แสดงรายจ่ายสำหรับค่าบริหารจัดการสำหรับการขาย การบริหาร การให้คำแนะนำและปรึกษา ในปีภาษี 2548 จำนวน 10,376,304.15 บาท พร้อมยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ในเดือนธันวาคม 2549 จำนวน 8,300,240.57 บาท แต่มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.54 ซึ่งจากการตรวจเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องพบว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ A ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ร้อยละ 99.3 เรียกเก็บกับบริษัท ฟ. ทุกประเทศทั่วโลก เพื่อนำไปจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่จ้างมาให้บริการในเรื่อง เกี่ยวกับความปลอดภัย ชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม การตลาดเชิงกลยุทธ์ การตลาดของแผนกปั๊ม และการบริการ ด้านกฎหมาย เป็นต้น รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 322,758เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ A จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ โดยการให้บริการที่สำนักงานของบริษัทแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจาก A เข้ามาบริหารจัดการ โดยพักอาศัยประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
          2. บริษัทฯ เข้าใจว่า ค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะค่าสิทธิ แต่เป็นกำไรจากธุรกิจซึ่งกระทำที่ สำนักงานของ A ในต่างประเทศไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ใน ประเทศไทย ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย          กรณีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัย ชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม การตลาดเชิงกลยุทธ์ การตลาดของ แผนกปั๊ม และการบริการด้านกฎหมายของ A เป็นการให้คำปรึกษาสำหรับการบริหารจัดการโดยทั่วไป มิได้มีการ ถ่ายทอดสูตร หรือกรรมวิธีลับ หรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทาง วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ประเภทค่าสิทธิ ตามข้อ 12 วรรคสาม (ค) แห่งอนุสัญญาฯ แต่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากA มิได้ส่งพนักงานหรือกรรมการ เข้ามาให้คำปรึกษาในประเทศไทยติดต่อกันเป็นระยะเวลาเดียวกันหรือ หลายระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 90 วัน ในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ ย่อมไม่อาจถือได้ว่า A มีสถานประกอบการ ถาวรในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสาม (ข)(1) แห่งอนุสัญญาฯ เมื่อA ได้ให้บริการใน ต่างประเทศ โดยมิได้ผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ให้แก่ A จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 71/35717

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020