เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/755
วันที่: 13 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่ารถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ม. เป็นพนักงานบริษัท พ. ได้ทำสัญญาเช่าโดยนำรถยนต์ของตนมาให้บริษัทฯ เช่า และได้นำเงินได้ที่ได้รับจาก การให้เช่ารถยนต์ดังกล่าว ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2549 นาย ม. ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขอคืนภาษีจำนวนเงิน 18,871.07 บาท แต่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้คืนภาษีให้เพียง 5,724.97 บาท โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้นาย ม. ทราบว่า เงินได้ที่ได้รับจากการนำรถยนต์มาให้บริษัทฯ เช่านั้น เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก เป็นเงินได้ที่มีแหล่งที่มาจากการจ้างแรงงาน และไม่อาจแยกคำนวณโดยหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 30 ได้ นาย ม. จึงขอ ทราบว่า เงินได้ที่ได้รับจากการให้เช่ารถยนต์ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (5) แห่งประมวลรัษฎากร และ ต้องหักค่าใช้จ่ายอย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีนาย ม. เป็นพนักงานของบริษัทฯ และได้นำรถยนต์ของตนมาให้บริษัทฯ เช่า โดยมีการทำสัญญาเช่าระหว่าง นาย ม. ผู้ให้เช่ากับบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้เช่า และกำหนดข้อตกลงในสัญญาเช่าให้นาย ม. จะต้องนำรถยนต์มาไว้ที่บริษัทฯ เพื่อให้ บริษัทฯ ใช้ในกิจการของบริษัทฯ และจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ทำประกันรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ตลอดเวลา และถ้ารถยนต์ที่ให้เช่าไม่สามารถใช้งานได้ นาย ม. จะต้องจัดหารถยนต์คันอื่นมาแทนนั้น หากข้อเท็จจริงเป็น ไปตามที่นาย ม. กล่าวอ้าง เงินได้ที่นาย ม. ได้รับจากการให้เช่ารถยนต์ดังกล่าว ย่อมไม่ใช่เป็นเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับ เนื่องจากการปฏิบัติงานในฐานะพนักงานของบริษัทฯ อันเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวล รัษฎากร แต่เข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับเนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน อันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนาย ม. มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ดังกล่าว เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 30 ตามมาตรา 5(1)(ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 เว้นแต่ จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมิน และพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์
เลขตู้: 71/35704

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020