เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./781
วันที่: 17 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการส่งเสริมการขาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์หลอดไฟฟ้าของบริษัท ก. จำกัด เนื่องจากบริษัท ก. จำกัด ได้จัดรายการส่งเสริม การขายด้วยการให้ของสมนาคุณแก่ลูกค้าของตัวแทนจำหน่ายที่ซื้อสินค้าครบจำนวนที่กำหนด โดยบริษัท ก. จำกัด จะเป็น ผู้สั่งซื้อของสมนาคุณจากผู้ขาย (Supplier) แล้วให้ผู้ขาย (Supplier) ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าในนามของ ตัวแทนจำหน่าย และให้ตัวแทนจำหน่ายออกเงินทดรองจ่ายให้กับผู้ขาย (Supplier) ไปก่อนกรณีหนึ่ง และอีกกรณีหนึ่ง ตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้สั่งซื้อของสมนาคุณเอง ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวบริษัท ก. จำกัด จะจ่ายเงินค่าของสมนาคุณโดยการลดหนี้ ทางการค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายในภายหลัง และได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ร้อยละ 3.0 ของเงินที่จ่าย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. ใบกำกับภาษีที่ได้รับทั้งสองกรณี บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย จะนำมาเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
          2. บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของของสมนาคุณมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัท ก. จำกัด จัดรายการส่งเสริมการขายด้วยการให้ของสมนาคุณแก่ลูกค้าของตัวแทนจำหน่ายที่ซื้อสินค้า ครบจำนวนที่กำหนด โดยบริษัท ก. จำกัด จะเป็นผู้สั่งซื้อของสมนาคุณจากผู้ขาย (Supplier) แล้วให้ผู้ขาย (Supplier) ออก ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าในนามของตัวแทนจำหน่าย และให้ตัวแทนจำหน่ายออกเงินทดรองจ่ายให้กับผู้ขาย (Supplier)ไปก่อน การที่ผู้ขาย (Supplier) ออกใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ จึงเป็นการออกใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ซึ่งกรณีตาม ข้อเท็จจริง ผู้ขาย (Supplier) จะต้องออกใบกำกับภาษีในนามของบริษัท ก. จำกัด ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อของสมนาคุณ ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของสมนาคุณดังกล่าว จึงถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออก จากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกรณีบริษัทฯ เป็นผู้สั่งซื้อของสมนาคุณเอง ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของสมนาคุณดังกล่าว เป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวล รัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ มอบของสมนาคุณให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าครบจำนวนที่กำหนด หากมิใช่เป็นการแจกหรือให้เป็นรางวัล กับผู้ซื้อสินค้าในแต่ละวัน โดยมีมูลค่ารวมกันตามที่บริษัทฯ กำหนด ตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 การมอบของสมนาคุณให้แก่ลูกค้าดังกล่าว เข้าลักษณะ เป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าของของสมนาคุณมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35707

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020