เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1000
วันที่: 24 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีหลักเกณฑ์การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(5) มาตรา 85/1 และมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ก. ประกอบอาชีพค้าขายของเบ็ดเตล็ดและอะไหล่รถยนต์ให้กับกรม ข. ยังมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี โดยในปี 2548 ได้ขายสินค้าให้กับทางกรมขนส่งฯ มียอดการขายทั้งปีเป็นเงินจำนวน 1,600,000 บาท และได้รับชำระราคาค่าสินค้าดังกล่าวบางส่วนในปี 2549 โดยได้นำยอดเงินที่ได้รับจากการขายสินค้าจำนวน 1,600,000 บาท ในปี 2548 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แล้ว ต่อมาในปี 2549 มีรายได้จากการขายสินค้ารวมเป็นเงินจำนวน 1,700,000 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แล้ว แต่เมื่อนำรายรับที่เป็นค่าสินค้าค้างจ่ายในปี 2548 ซึ่งได้รับจริงในปี 2549 รวมกับรายรับในปี 2549 ทำให้มีรายได้เกินจำนวน 1,800,000 บาท จึงขอทราบว่า การประกอบกิจการขายสินค้าดังกล่าว ต้องจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีบุคคลธรรมดาประกอบอาชีพค้าขายของเบ็ดเตล็ดและอะไหล่รถยนต์ เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการตาม มาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร หากบุคคลธรรมดามีมูลค่าของฐานภาษีจากการประกอบกิจการขายสินค้าดังกล่าวเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีให้ถือมูลค่าของฐานภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35744

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020