เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1209
วันที่: 1 เมษายน 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการขนส่งโดยใช้รถหัวลาก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ฟ. จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกับกรมขนส่งทางบก ประกอบกิจการ ให้บริการขนส่งสินค้า โดยจะนำรถหัวลากของบริษัทฯ ไปรับตู้คอนเทนเนอร์ (ตู้เปล่า) ซึ่งเป็นตู้แห้ง (สินค้า ที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิตู้) หรือตู้เย็น (สินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิตู้โดยจะเปิดเครื่องปั่นไฟที่ติดอยู่ที่ รถหัวลาก) ณ ลานรับตู้คอนเทนเนอร์ และนำไปรับสินค้าของผู้ว่าจ้างนำไปส่งยังสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนด บริษัทฯ จะมีการทำสัญญาว่าจ้างขนส่งสินค้ากับผู้ว่าจ้าง โดยมีสาระที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
         1. บริษัทฯ จะให้บริการขนส่งตามวันเวลาที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนด โดยบริษัทฯ ต้องนำรถยนต์มารับ สินค้า ณ ที่ทำการของผู้ว่าจ้างหรือสถานที่และภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดและบริษัทฯ ต้องจัดส่งสินค้า ให้แก่ผู้รับสินค้าปลายทางให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด หากสินค้าเสียหายหรือสูญหายไป ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือในระหว่างการขนส่งสินค้า หากมีอุบัติเหตุหรือเกิดการละเมิด การฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมีเหตุใดๆ เกิดขึ้นและเป็นเหตุให้การขนส่งล่าช้าหรือไม่สามารถทำการขนส่งต่อไปได้ บริษัทฯ ต้อง ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ว่าจ้าง
         2. บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าตามระยะทางขนส่ง
         จึงขอทราบว่า การรับจ้างขนส่งของบริษัทฯ ดังกล่าว เป็นกิจการขนส่งที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย         กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่งสินค้า โดยบริษัทฯ จะนำรถหัวลากของบริษัทฯ ไปรับตู้คอนเทนเนอร์ (ตู้เปล่า) ณ ลานรับตู้คอนเทนเนอร์ที่ผู้ว่าจ้างกำหนด จากนั้นจึงไปรับสินค้าของผู้ว่าจ้างและนำไปส่งที่ท่าเรือ ตามสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนด เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน บริษัทฯ ต้องรับผิดในการที่สินค้าที่ขนส่ง สูญหาย บุบสลาย หรือส่งมอบชักช้า นั้น เข้าลักษณะเป็นการรับขนตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ และถือเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35766

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020