เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/1822
วันที่: 23 เมษายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้ กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         นาง ส. ได้ร่วมกับญาติมิตรบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคารเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียน ที่ได้รับประกาศ ให้เป็นสถานศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายชื่อสถานศึกษาเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,487,048 บาท และได้ส่งมอบอาคารเรียนให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกใบประกาศเกียรติคุณให้ผู้บริจาคเงินและโรงเรียนฯ ได้ออกใบรับเงินบริจาค ให้นาง ส. จำนวนเงิน 104,452 บาท ผู้บริจาคเงินดังกล่าวประสงค์จะขอยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 จึงขอทราบว่า ใบประกาศเกียรติคุณและใบรับเงินดังกล่าวสามารถใช้เป็นหลักฐานในการขอยกเว้นภาษีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย         กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่สถานศึกษา ของทางราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษา ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548 กรณีนาง ส. ได้ร่วมกับผู้อื่น บริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนฯ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,487,048 บาท และโรงเรียนฯ ซึ่งเป็น โครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการได้ออกใบรับรองว่า นาง ส. ได้บริจาคเงินเพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสร้างอาคารเรียนเป็นเงิน 104,452 บาท จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนดังกล่าว โดยไม่มีสิทธินำไปหักลดหย่อนสำหรับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่ง ประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548
เลขตู้: 71/35808

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020