เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/1293
วันที่: 3 เมษายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50(2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         1. นาง ส. มีบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และประเภทกระแสรายวันกับธนาคารฯ โดยตกลงกับ ธนาคารฯ ให้เชื่อมบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เข้าด้วยกัน หากบัญชีเงินฝาก กระแสรายวันมีเงินไม่พอก็สามารถโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้ เมื่อตกลง ใช้วิธีดังกล่าวธนาคารฯ จึงได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ที่นาง ส. ได้รับ ไม่เกิน 20,000 บาท เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
         2. นาง ส. ได้แจ้งขอยกเลิกวิธีการโอนเงินดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2551 โดยธนาคารฯ ได้ตกลงยกเลิกการโอนเงินด้วยวิธีดังกล่าวให้แล้ว ทั้งยังแจ้งให้ทราบว่าแม้จะยกเลิกการโอนเงินตามวิธีการ ดังกล่าวแล้ว ธนาคารฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่นาง ส. ได้รับแม้ไม่ถึง 20,000 บาท ในปีภาษี 2551 เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
         นาง ส. จึงขอทราบว่า กรณีตาม 1. และ 2. ดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับอยู่ใน บังคับที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย         1. กรณีตาม 1. นาง ส. มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอน เงินจากบัญชีออมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แม้จะมีจำนวนดอกเบี้ยตลอดปีภาษีนั้นไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)ฯ ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ผู้ฝากเงินจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ออมทรัพย์ตามมาตรา 42(8)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (38) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แต่อย่างใด โดยธนาคารฯ ผู้จ่ายดอกเบี้ยมีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
         2. กรณีตาม 2. หากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)ฯ ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2538 กล่าวคือ เป็นดอกเบี้ย เงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ซึ่งใช้สมุดคู่ฝากในการฝากถอน และไม่ใช้เช็คในการถอนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชี เงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเงินฝากอื่นใด และมีจำนวนดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปี ภาษีนั้น ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ธนาคารฯ ผู้จ่ายดอกเบี้ยจึงไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 71/35771

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020