เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/1819
วันที่: 23 เมษายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของครูสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาสอนหนังสือในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และอนุสัญญาไทย-อเมริกา (ข้อ 23)
ข้อหารือ         โรงเรียน ส. ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานรับรอง คุณภาพการศึกษาจากต่างประเทศ โรงเรียนฯ ได้ว่าจ้างครูสัญชาติอเมริกัน เข้ามาทำการสอนภาษาอังกฤษ ให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนฯ โดยทำสัญญาว่าจ้างกับครูฯ คราวละ 2 ปี และเมื่อใกล้จะครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีตามสัญญาว่าจ้าง โรงเรียนฯ อาจพิจารณาต่อสัญญาว่าจ้างให้อีกคราวละ 1 ปี โรงเรียนฯ จึงขอหารือว่า
         1. ค่าจ้างสอนที่ได้รับใน 2 ปีแรก จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตาม ข้อ 23 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บ ภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ หรือไม่ อย่างไร
         2. การที่ครูฯ มีความประสงค์จะต่อสัญญาว่าจ้างเพื่ออยู่ทำการสอนต่อไปหลังจากพ้นกำหนดระยะ เวลา 2 ปีแรกแล้ว นั้น ครูฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินค่าตอบแทนที่ได้รับจาก การสอนในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรก หรือไม่
         3. หากครูฯ เป็นผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อบทในอนุสัญญาฯ จะต้องนำ หลักฐานอย่างไรมาแสดงเพื่อยืนยันการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว
         4. หากครูฯ อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามอนุสัญญาฯ โรงเรียนฯ จำเป็นต้องยื่นรายการ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.1 หรือไม่ อย่างไร และเมื่อสิ้นปีภาษี โรงเรียนฯ และครูฯ จะต้อง ปฏิบัติอย่างไร
         5. กรณีที่ครูฯ ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้วเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย หากเงินได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามอนุสัญญาฯ จะดำเนินการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย อย่างไร
แนววินิจฉัย         1. กรณีครูฯ ได้ทำสัญญารับจ้างสอนหนังสือกับโรงเรียนฯ โดยมีระยะเวลาการจ้างตามสัญญาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันแรกที่ครูฯ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอนและไม่มีเจตนาใด ๆ ที่ จะอยู่ในประเทศไทยเพื่อจุดมุ่งประสงค์ในการสอนหนังสือเกินกว่าระยะเวลานี้ ค่าจ้างสอนที่ครูฯ ได้รับในช่วง ระยะเวลา 2 ปีนี้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามข้อ 23 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ครูฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้อง เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ดังกล่าวในประเทศไทยแต่อย่างใด
         2. หากครูฯ มีความประสงค์จะอยู่สอนต่อไปในประเทศไทยหลังจากระยะเวลา 2 ปีสิ้นสุดลงแล้ว ถือว่า มีเจตนาที่จะอยู่เกินกว่าระยะเวลา 2 ปี ดังนั้น จึงต้องนำเงินได้ทั้งหมดจากการสอนในระยะเวลา 2 ปีแรกมา คำนวณเพื่อเสียภาษีในประเทศไทยด้วย กรณีนี้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย แต่อย่างใด
         3. หลักฐานที่จะนำมาแสดงเพื่อยืนยันว่า ครูฯ เป็นผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น หลักฐานแสดงความเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในสหรัฐอเมริกาก่อนหน้าที่จะเข้ามาในประเทศไทยเพื่อ จุดมุ่งประสงค์ในการสอน หลักฐานวุฒิการศึกษาที่แสดงว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการสอนวิชาตาม ที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หลักฐานการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจุดมุ่งประสงค์ในการสอน (ตราประทับการเดินทางเข้าประเทศไทยในหนังสือเดินทาง) และหลักฐาน เกี่ยวกับระยะเวลาการว่าจ้างสอนในสัญญาจ้างสอน
         4. หากเป็นที่แจ้งชัดว่า ครูฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 23 แห่งอนุสัญญาฯ โรงเรียนฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.1 แต่อย่างใด
         5. กรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย ครูฯ มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้ โดยการยื่นคำร้องขอคืนตามแบบ ค.10 ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35805

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020