เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1666
วันที่: 18 เมษายน 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีธนาคารออมสินเป็นตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         ธนาคารฯ ได้ให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านระบบ Payment Online โดยธนาคารฯ จะเป็นตัวแทนผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการในการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ และออกใบเสร็จรับเงิน/ ใบกำกับภาษีอย่างย่อแทน การให้บริการดังกล่าว ธนาคารฯ สามารถกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7(8) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ประกอบกับความในข้อ 10 ของกฎกระทรวง ว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 และเนื่องจากธนาคารฯ ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ธนาคารฯ จึงขอทราบว่า
         1. การให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านระบบ Payment Online ธนาคารฯ จะต้อง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
         2. ธนาคารฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร ในการออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีอย่างย่อแทน ผู้ประกอบการ
แนววินิจฉัย         1. กรณีตาม 1. ธนาคารฯ ได้ให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านระบบ Payment Online โดยธนาคารฯ จะเป็นตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ และออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อแทนผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ การประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากการให้บริการดังกล่าว ธนาคารฯ อาศัยอำนาจตามมาตรา 7(8) แห่ง พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ประกอบกับความในข้อ 10 ของกฎกระทรวง ว่าด้วยการประกอบ กิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 การให้บริการดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการธนาคาร ซึ่งตามมาตรา 91/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(7) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการ เฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้เป็นกิจการที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) พ.ศ. 2534 กำหนดให้การให้บริการดังกล่าวของธนาคารฯ อยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรณีธนาคารฯ เคยได้รับยกเว้นภาษีโรงค้า (ภาษีการค้า) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ธนาคารฯ จึงต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการดังกล่าว ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
         2. กรณีตาม 2. หากผู้ประกอบการจดทะเบียนเข้า ลักษณะเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิแต่งตั้งธนาคารฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่คำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นตัวแทนออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยในการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการ จดทะเบียนดังกล่าว ให้ธนาคารฯ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538
เลขตู้: 71/35800

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020