เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2472
วันที่: 20 พฤษภาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเจ้าหนี้การค้าต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 วรรคสอง มาตรา 65 ตรี มาตรา 71/1(8)(9)(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         บริษัท ร. จำกัด ประกอบกิจการขายเครื่องจักร และอะไหล่ของเครื่องจักร รวมทั้งให้บริการติดตั้ง และซ่อมเครื่องจักร ตั้งแต่ปี 2547 ทางบริษัทฯ ไม่มีการทำธุรกิจในการขายเครื่องจักรแล้ว บริษัทฯ ขอสอบถามปัญหาดังนี้
         1. ในปี 2539 - 2540 บริษัทฯ ได้ซื้อ Part จากบริษัท T เข้ามาขาย แต่บริษัทฯไม่ได้ชำระหนี้ค่าสินค้า ดังกล่าวให้แก่บริษัท T เนื่องจากสภาพการเงินไม่ดี บริษัทฯ เห็นว่าหนี้จำนวนดังกล่าวมีอยู่เป็นเวลานาน ในปี 2548 จึงส่งจดหมายยืนยันยอดเจ้าหนี้ไป แต่ไม่มีการส่งจดหมายตอบกลับ และใบทวงหนี้จากเจ้าหนี้ เหล่านี้ก็ไม่ได้ส่งให้กับทางบริษัทฯ ซึ่งในอดีตได้มีการส่งจดหมายเป็น OUTSTANDING LIST มายังบริษัทฯ ดังนั้น ทางบัญชีของบริษัทฯ จึงได้ลงบัญชีล้างเจ้าหนี้การค้าต่างประเทศมาเป็นรายได้อื่น ๆ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การลงบัญชีล้างเจ้าหนี้การค้าต่างประเทศดังกล่าวเข้าเป็นรายได้อื่น ๆ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
         2. บริษัทฯ มีภาระหนี้สินของ ธนาคารมหานครเดิม สำหรับหนี้ทรัสรีซีต ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2541 ซึ่งนำเข้าเครื่องจักรมาเพื่อขายและแปลงเป็น T/R (หนี้ทรัสรีซีต) โดยธนาคารจะให้ระยะเวลาในการชำระเงิน 3 เดือน บริษัทฯ จะมีวงเงินกับธนาคาร ในการทำทรัสรีซีต แต่เมื่อบริษัทฯ รับเงินจากลูกค้ามาแล้ว บริษัทฯ มิได้นำเงินไปชำระหนี้ค่าเครื่องจักรกับธนาคาร จำนวนทั้งสิ้น 13 รายการ เป็นภาระหนี้นี้จำนวน 41,774,213.10 บาท ประมาณปี 2542 ธนาคารมหานครได้ปิดกิจการไป ส่วนของหนี้ที่บริษัทฯ มีต่อธนาคารได้ถูกโอนมาอยู่ที่ บริษัท S บริษัทฯ ไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ บริษัท S จึงได้ฟ้องบริษัทฯ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษา ให้บริษัทฯ ชำระหนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 บริษัท S ได้มอบให้บริษัท เงินทุนฯ เป็นผู้ติดตามหนี้ ในปี 2545 ถึงปี 2546 และในปี 2548 บริษัท S ได้รับโอนภาระหนี้นี้จาก บริษัทเงินทุนฯ กลับมาอยู่ที่บริษัท S ดังเดิม บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ดอกเบี้ยที่ต้องชำระตาม คำพิพากษาของศาล แต่เมื่อถึงกำหนดชำระ บริษัทฯ ยังไม่ได้ชำระเลย จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย         1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้ลงบัญชีล้างเจ้าหนี้การค้าต่างประเทศเข้าเป็นรายได้อื่นๆ หากบริษัทฯ มิได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่เจ้าหนี้การค้าต่างประเทศ ย่อมไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(9)(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ต้องนำหนี้จำนวนดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
         2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ มีดอกเบี้ยที่ต้องชำระตามคำพิพากษาของศาล ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในรอบระยะ เวลาบัญชีใด แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น บริษัทฯ มีสิทธินำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบ ระยะเวลาบัญชีนั้นได้ ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น รายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35867

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020