เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3133
วันที่: 9 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และมี สาขาในประเทศไทย (สาขาในประเทศไทย) บริษัทฯ และบริษัท ไอ. ในฐานะคู่สัญญาตามสัญญา Consortium เข้าทำสัญญา On-shore Compression Station 3 Contract (สัญญาฯ) กับบริษัท ป. โดยมีการแบ่งแยกงาน และค่าตอบแทนออกจากกัน แต่ยังคงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อ บริษัท ป.
          2. ในส่วนของงานที่บริษัทฯ มีหน้าที่รับผิดชอบตามสัญญาฯ แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ งานในต่างประเทศ อาทิเช่น การจัดหาอุปกรณ์หลัก และการออกแบบทางวิศวกรรม และงานในประเทศ อาทิเช่น งานกำกับดูแลหรือ งานการติดตั้ง ในส่วนของงานในประเทศ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในต่างประเทศ จะไม่สามารถปฏิบัติตาม สัญญาได้ หากมิได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งสถานประกอบการ ถาวรในประเทศไทยในรูปของสาขา เพื่อดำเนินงานภายในประเทศตามสัญญาฯ
          3. ในระหว่างปี 2548 บริษัท ป. ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาบางส่วน ด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของ บริษัทฯ ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันโดยตรง และมิได้ผ่านสาขาในประเทศไทย บริษัทฯ ได้นำเงิน ดังกล่าว ไปชำระค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงาน (ส่วนที่นำเข้าในนามของ บริษัท ป. ) และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
          4. กรณีตามข้อเท็จจริง มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้
               4.1 กรณีบริษัท ป. ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาโดยตรงให้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ใน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เข้าลักษณะเป็นการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศโดยสาขา ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
               4.2 หากการชำระค่าตอบแทนตาม 4.1 เข้าลักษณะเป็นการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศโดยสาขา สาขามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จากจำนวนยอดเงินทั้งหมดที่ บริษัท ป. โอนตรงไปยังสำนักงานใหญ่หรือจากยอดเงินที่หักค่าวัสดุอุปกรณ์ที่สำนักงานใหญ่ชำระแทนในนามของ บริษัท ป.
แนววินิจฉัย          เนื่องจากเงินได้ตามสัญญาฯ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากสัญญาฯ มีการแบ่งแยกงานในการ จัดหาอุปกรณ์ การออกแบบทางวิศวกรรมจากต่างประเทศ ออกจากงานบริการภายในประเทศอย่างชัดเจน และในส่วนของงานในต่างประเทศ บริษัทฯ ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งความตกลงระหว่าง ราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และทุน และหากสาขาในประเทศไทยที่บริษัทฯ ได้จัดตั้งขึ้นในภายหลัง มิได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องดำเนินการในต่างประเทศหรือการเก็บรักษาและส่งมอบสินค้าในส่วนดังกล่าวในประเทศไทยแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือว่า เงินได้ในส่วนของงานในต่างประเทศ เป็นของสาขาในประเทศไทย ดังนั้น สาขาในประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องนำ เงินได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานที่ต้องดำเนินการในประเทศไทย มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญา ฉบับดังกล่าว หากสาขามีการจำหน่ายเงินกำไรออกไปต่างประเทศ สาขามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก เงินกำไรที่จำหน่ายตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกำไรของสาขาเท่านั้น
เลขตู้: 71/35926

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020