เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2871
วันที่: 2 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเบี้ยประกันชีวิต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
ข้อหารือ          บุตรชายของนาง ก. ได้ซื้อประกันชีวิต ให้กับนาง ก. ระยะเวลาเอาประกัน 16 ปี โดยบุตรชายของนาง ก. เป็น ผู้ชำระเบี้ยประกัน นาง ก. เป็นผู้เอาประกัน และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในกรมธรรม์ เมื่อนาง ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระ ภาษีโดยใช้สิทธิในการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเป็นจำนวนเงิน 22,570 บาท เจ้าหน้าที่ แจ้งว่า " เบี้ยประกันชีวิต ที่นาง ก. มีสิทธิเอามาลดหย่อนได้ ผู้เอาประกันกับผู้ชำระเบี้ยประกันต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน" นาง ก. จึงขอทราบว่า บุคคลใดเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวได้
แนววินิจฉัย          การหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิต และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็น เบี้ยประกันต้องเป็นไปตามกฎหมาย ดังนี้
          1. ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า "เบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับ การประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิต มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิต ในราชอาณาจักร"
          2. ตามข้อ 2 (61) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 กำหนดว่า "เงินได้เท่าที่ ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับ ผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด" ตามกฎหมายดังกล่าว การได้รับลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิตและยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิต ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขดังนี้
          1. ต้องเป็นเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้
          2. กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป
          3. ต้องประกันเอาไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
          ดังนั้น เบี้ยประกันชีวิตที่นาง ก. ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จะมีสิทธินำมาหักลดหย่อนภาษี และได้รับสิทธิยกเว้นภาษี เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตตามกฎหมายดังกล่าว ต้องเป็นเบี้ยประกันชีวิตที่นาง ก. ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จ่ายไป ในปีภาษีสำหรับประกันชีวิตของผู้มีเงินได้เอง
เลขตู้: 71/35898

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020