เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2847
วันที่: 2 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเสียภาษีของกองทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสอง มาตรา 50 มาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          กองทุนฯ มีสถานะเป็นคณะบุคคลจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนในการพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กองทุนฯ ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ในช่วงที่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุนฯ ให้ กฝผ. เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ จึงขอทราบว่า กองทุนฯ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร
แนววินิจฉัย          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
               1.1 กองทุนฯ มีสถานะเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หากกองทุนฯ มีเงินที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ โรงไฟฟ้า ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
               1.2 กองทุนฯ มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ตามจำนวนบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ใน ประเทศไทย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ถือเป็นเงินได้สุทธิ ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ และยื่นแบบแสดงรายการและภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(6) และมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
               1.3 กรณีกองทุนฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กองทุนฯ จะต้องมี หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
               กรณีกองทุนฯ กระทำกิจการในราชอาณาจักรที่เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการโดยผู้ประกอบการ หรือ การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กองทุนฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35893

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020