เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3142
วันที่: 10 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณเครดิตภาษีจากเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ห้างฯ นำกำไรสะสมมาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นจำนวน 2 คน เป็นจำนวนคนละ 1,000,000 บาท นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากการจ่ายเงินดังกล่าวตามแบบ ภ.ง.ด.2 โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้นาย ส. แสดง จำนวนเงินที่จ่าย 1,000,000 บาท ภาษีที่หักและนำส่งไว้จำนวน 100,000 บาท แสดงรายละเอียดว่าเงินส่วนแบ่งกำไร ดังกล่าวจ่ายจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ รายละเอียดงบกำไรขาดทุนที่ยื่นไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ห้างฯ ได้ชำระภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 30 เพียงอัตราเดียว จึงขอทราบว่า การคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจะคำนวณในอัตราที่ลดให้ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2548 หรือคำนวณให้ตามอัตรา ภาษีที่จ่ายไว้จริง (อัตราร้อยละ 30)
แนววินิจฉัย          กรณีห้างฯ นำรายได้จากการประกอบกิจการมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิเพียงอัตราเดียว โดยมิได้ใช้สิทธิการลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2548 เมื่อห้างฯ จ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และห้างฯ ทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไร หลังจากเสียภาษีในอัตราใด ห้างฯ จะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่า เงินส่วนแบ่งกำไร ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด และให้ถือตามอัตราที่ระบุในหนังสือรับรองการหัก ภาษี ณ จ่าย เพื่อให้ผู้รับส่วนแบ่งกำไรมีสิทธิเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนไม่เกินกว่าที่ผู้รับพึงได้รับ และหากห้างฯ แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้เครดิตภาษีที่คำนวณ ได้มีจำนวนเกินกว่าที่หุ้นส่วนผู้มีเงินได้พึงได้รับ ห้างฯ ต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนผู้มีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับคืนเกิน ไปหรือที่ชำระไว้ไม่ครบ ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 13 และ 18 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 119/2545ฯ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
เลขตู้: 71/35929

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020