เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3157
วันที่: 11 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีรับโอนอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 50(5)(ข) มาตรา 91/1(4) มาตรา 91/2(6) มาตรา 91/2 มาตรา 77 ตรี มาตรา 63 และมาตรา 9/11 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. นาง ศ. เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ซึ่งได้จำนองที่ดินไว้กับธนาคารฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 นาง อ. ซึ่งเป็นบุตรของนาง ศ. ได้นำเงินไปชำระหนี้จำนองแทน เพื่อไถ่ถอนที่ ดินแปลงดังกล่าวจากธนาคารฯ และได้นำชื่อของตนเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน จำนวน 8,000 ส่วน ในจำนวน 15,296 ส่วน เมื่อนาง ศ. ทราบ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เพิกถอนนิติกรรม และต่อมา คู่กรณีได้ตกลงประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 โดยนาง ศ. ยินยอมจ่ายเงินที่นาง อ. ชำระหนี้จำนองแทนพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ต้อง เสียไปคืนให้ และในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในครั้งนี้ นาง ศ. ยินยอมชำระค่าธรรมเนียมการโอนและ ภาษี และนาง อ. ได้โอนที่ดินกลับคืนให้ นาง ศ. ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 นาง ศ. ผู้รับโอน ได้ชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา เป็นจำนวนเงิน 603,730 บาท และภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นจำนวนเงิน 182,746 บาท
          2. นาง ศ. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ขอคืน เงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวนข้างต้น โดยให้เหตุผลในการขอคืนว่าเป็นการประนีประนอม ยอมความในศาล มิใช่การซื้อขายหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น สำนักงานสรรพากรพื้นที่ เห็นว่า นาง ศ. ไม่ใช่ผู้มี หน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินแปลงดังกล่าว และมิใช่ผู้มีสิทธิขอคืน ตามคำนิยาม ของข้อ (4) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 จึงไม่อนุมัติคืนเงินภาษีให้แก่ผู้ขอคืน และได้มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค.30) ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ให้นาง ศ. ทราบ
          3. นาง ศ. ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2550 คัดค้านการไม่คืนเงินภาษีอากร โดยชี้แจงว่า นาง ศ. เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะและเป็นผู้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจาก เป็นกรณีตามสัญญา ประนีประนอมยอมความและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นการโอนคืนที่ดินต่อกัน ตามคำพิพากษา ของศาล โดยมิได้เป็นการค้าหรือมุ่งหากำไร ตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีสิทธิที่จะขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ พร้อม ทั้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัด ขอให้ศาลมีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัด และสำนักงานสรรพากรภาค เพื่อชี้แจง และยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวนดังกล่าวว่า การโอนที่ดินกรณีนี้ เป็น การปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลมีคำสั่งให้ปฏิบัติ ตามคำร้องลงวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ซึ่งศาล มีคำสั่งว่า "วิเคราะห์ตามคำฟ้อง คำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาตามยอมแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่คู่ความตกลงทำยอมโดยยอมโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ตามคำฟ้องจริงให้ผู้ร้องถ่ายรับรองคำสั่งนี้ไป ดำเนินการทางกฎหมายภาษีอากรต่อไป ส่วนที่ผู้ร้องขอให้จำเลยคืนเงินภาษีด้วยนั้น มิได้เป็นไปตามสัญญาประนี- ประนอมยอมความ มิอาจสั่งให้ได้ตามขอ
แนววินิจฉัย          1. ตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขาย อาจแสดง เจตนาตกลงเป็นอย่างอื่นได้ตามหลักอิสระในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาแต่ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวล รัษฎากร เป็นเรื่องที่รัฐบังคับจัดเก็บภาษีอากรจากประชาชน จึงมิได้นำหลักอิสระในการแสดงเจตนาตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับด้วย สำหรับการจัดเก็บภาษีอากร กรณีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร อันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย และมีลักษณะเป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ โดย ไม่ต้องคำนึงว่า ในระหว่างผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วยกัน ฝ่ายใดตกลงเป็นผู้ชำระ ดังนั้น เมื่อมี การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์แล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะเป็น ผู้มีเงินได้พึงประเมิน ส่วนการชำระเงินภาษีนั้น คู่สัญญาจะกำหนดให้ผู้ซื้อหรือบุคคลอื่นชำระเงินแทนผู้ขาย ก็เป็น เรื่องที่คู่สัญญาได้ตกลงกันเอง
          2. กรณีนาง อ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นาง ศ. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลได้พิพากษา ตามยอมแล้ว โดยมีข้อตกลงให้นาง ศ. จ่ายเงินและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นาง อ. ชำระหนี้แทน และต้องเป็นผู้ออก เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าภาษีอากรจากการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้แล้ว การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะ เป็นการขายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินกรณีนี้ จึงถือได้ว่า นาง อ. เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และ เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นาง อ. ผู้โอนกรรมสิทธิ์ได้มาซึ่งที่ดินนั้น ย่อมอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
          นอกจากนี้ หากผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายอื่นและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนที่ผู้ขาย มีหน้าที่ต้องชำระ ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ นาง อ. ผู้ขายต้องนำค่าธรรมเนียม ค่าภาษี รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์มารวมเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต้องนำ มารวมเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรได้เสียภาษีไว้เกินหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือโดย ไม่มีหน้าที่ต้องเสียมีผลให้เกิดสิทธิของผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ สิทธิในการขอคืนภาษีอากรจากรัฐ กฎหมายกำหนด ให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 27ตรี หรือ มาตรา 63 หรือ มาตรา 91/11 แห่ง ประมวลรัษฎากร ของแต่ละประเภทภาษี ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ จะต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินและ มีจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีและได้ชำระภาษีหรือถูกหักภาษีไว้เกินกว่าที่ควรต้องเสีย หรือเป็นกรณีไม่มีหน้าที่ต้อง เสียภาษีตามกฎหมายและได้ชำระภาษีไว้หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ดังนี้แล้ว การโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 39 และมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร โดย นาง อ. เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน จึงถือว่า เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ใช่กรณีบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีไ ด้เสียภาษีอากรไว้เกินหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย กรณีจึงไม่มี ภาษีที่ต้องขอคืน
          ส่วนกรณีนาง ศ. ออกเงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าภาษีอากรจากการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าว แทนนาง อ. ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว กรณีเช่นนี้ ตามประมวลรัษฎากร ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้ขายที่ดิน แต่เป็นสิทธิของ คู่กรณีที่จะตกลงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลอื่นชำระค่าภาษีอากรอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่างแทนผู้ขายก็ได้ กรณีนี้ นาง ศ. เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและยินยอมชำระเงินภาษีแทนผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมิใช่กรณีไม่ต้องเสีย ภาษีหรือเสียภาษีเกินไป จึงไม่มีเหตุให้ต้องคืนภาษี การที่นาง ศ. กล่าวอ้างและชี้แจงเรื่องการขอคืนภาษีอากรที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้รับชำระไว้แล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่นาง ศ. ได้ชำระไป โดยเหตุใดก็ตาม เป็นการจัดเก็บภาษีอากรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เลขตู้: 71/35932

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020