เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3315
วันที่: 17 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) มาตรา 47(1)(ว) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(53) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126
ข้อหารือ          1. นาง ร. สมรสกับนาย R ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ นาง ร. ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารฯจำนวนเงิน 1,150,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 ในปี 2550 นาง ร. จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 60,343.90 บาท
          2. นาง ร. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ปีภาษี 2550 มีเงินได้พึงประเมิน 591,993.10 บาท ได้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 60,343 บาท มาหักลดหย่อน คำนวณแล้วมีภาษีชำระไว้เกิน 3,145.80 บาท และได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 กรมสรรพากรได้อนุมัติจ่าย คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนจำนวน 128.69 บาท โดยส่งเช็คธนาคารกรุงไทย
          3. นาย R ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2550 มีเงินได้พึงประเมิน 230,550 บาท ไม่ได้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืม มาหักลดหย่อน คำนวณแล้วมีภาษีที่ชำระเพิ่มเติม 3,155 บาท ได้ชำระภาษีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551
          4. ตามบันทึกลงวันที่ 18 เมษายน 2551 แจ้งว่า ฝ่ายกรรมวิธีและคืนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ได้ วิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด.91 เห็นว่า นาง ร. และ นาย R หักลดหย่อนและยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ย เงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2551 ทำให้นาง ร. มีภาษีที่ได้รับคืน 128.69 บาท และให้นาย R ผู้เป็นสามียื่นคำร้องขอคืน ภาษีในส่วนที่ได้ชำระไว้เกิน
          5. นาง ร. ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 เมษายน 2551 ขออุทธรณ์เกี่ยวกับการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ ที่อยู่อาศัย โดยนาง ร. เห็นว่า ตนควรได้สิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนทั้งจำนวนแต่ผู้เดียว เนื่องจากเป็น ผู้กู้และเป็นผู้ชำระหนี้เงินกู้ยืมเพียงผู้เดียว ซึ่งหักจากบัญชีเงินเดือน กรณีดังกล่าวนาง ร. ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ สท.เชียงใหม่ โดยแจ้งว่า ต้องหักลดหย่อนคนละครึ่งกับสามี แต่นาง ร. ไม่เห็นด้วย ประกอบกับนาย R สามีของ นาง ร. เป็นคนต่างด้าวไม่สามารถครอบครองที่ดินได้ จึงไม่สามารถกู้ยืมเงินซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านและที่ดินได้ และ การยื่นขอต่อวีซ่าทุกๆ ปี นาย R จะต้องแสดงการเสียภาษี ภ.ง.ด.91 ซึ่งหากเกิดประเด็นหักลดหย่อนภาษีไม่ถูกต้อง อาจเป็นปัญหาในการต่อวีซ่า นาง ร. จึงขอให้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวให้ด้วย
แนววินิจฉัย          กรณีนาง ร. เป็นผู้กู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ยืมเพียงผู้เดียว โดยนาง ร. และสามีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ ตลอดปีภาษี หากนาง ร. ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวล รัษฎากร นาง ร. และสามีมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ฝ่ายละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตาม มาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 และได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้อีกจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ ประกอบกับข้อ 2(9)(ค) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2551
เลขตู้: 71/35940

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020