เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./2869
วันที่: 2 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสิทธิในการประกอบกิจการในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(9) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัททั้งสองหารือเกี่ยวกับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีบริษัททั้งสองมีเงินได้ จากการขายสิทธิในการประกอบกิจการในต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
          1. บริษัททั้งสอง เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า พลังถ่านหิน ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิในสัมปทานในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อโครงการสำเร็จลุล่วง บริษัททั้งสองจะร่วมกับ สปป.ลาว ทำการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใน สปป.ลาว เพื่อก่อสร้างและประกอบกิจการโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว ต่อไป
          2. บริษัททั้งสอง มีความประสงค์จะโอนสิทธิในการประกอบกิจการดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 8 และ ร้อยละ 32 ตามลำดับ ให้กับบริษัท ผ. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีความประสงค์จะเข้าร่วมทุนใน กิจการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินใน สปป.ลาว
          3. บริษัททั้งสอง ได้หารือว่า การโอนสิทธิในการประกอบกิจการดังกล่าว จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบริษัท ผ. จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายค่าโอนให้กับบริษัททั้งสองหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          เนื่องจากสิทธิในการประกอบกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิในสัมปทาน นั้น เข้าลักษณะ เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งเป็นสินค้าตามมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีที่บริษัททั้งสอง โอนสิทธิในการประกอบกิจการใน สปป.ลาว ให้กับบริษัท ผ. โดยไม่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรและไม่มี การส่งมอบในราชอาณาจักร จึงเป็นการขายสินค้านอกราชอาณาจักร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
          2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
          กรณีที่บริษัททั้งสอง โอนสิทธิในการประกอบกิจการใน สปป.ลาว ให้กับบริษัท ผ. นั้น บริษัททั้งสอง มีหน้าที่ต้องนำรายได้จากการโอนสิทธิดังกล่าว มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา ร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่เงินได้จากการโอนสิทธิในการประกอบ กิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ บริษัท ผ. จ่ายค่าโอนให้กับบริษัททั้งสอง บริษัท ผ. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่ง กรมสรรพากร ที่ ทป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด
เลขตู้: 71/35897

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020