เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/4259
วันที่: 23 กรกฎาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรจากการ โอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ข้อกฎหมาย: -
ข้อหารือ          1. การเคหะฯ ได้ทำสัญญาซื้อที่ดิน ในท้องที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 3 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 50 ไร่ ราคาไร่ละ 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท ซึ่งการเคหะฯ แจ้งว่า ถ้าผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง ไม่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ด้วย โดยสำนักงานที่ดินเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย จากการขายที่ดินแล้ว นำส่งรัฐ การเคหะฯ จึงขอให้ตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวว่า ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
          - เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การเคหะฯ ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินสำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนาย ส. จำนวน 3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 63 เลขที่ 48 และ 69 รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท ซึ่งตามสำเนาใบเสร็จ รับเงินจากกรมที่ดิน ไม่ปรากฏการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการตรวจสอบเอกสารพบว่า เป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์ ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่นำไปประกันหนี้จำนองให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่ เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน โดยมีผู้ขายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ เป็นจำนวนเงิน 70,800,284.64 บาท จึงได้ทำสัญญา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งต้องนำเงินจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 3 แปลง จำนวน 28,000,000 บาท ชำระหนี้สถาบันการเงิน ดังนั้น เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548
          เนื่องจาก ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทั้ง 3 แปลง เป็นฐานในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเจ้าพนักงานได้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ จำนวน 13,255,000 บาท ดังนั้น การขายที่ดินจำนวน 30,000,000 บาท จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 28,000,000 บาท จึงขอทราบว่า ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
          2. เอกสารประกอบการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สรุปได้ดังนี้
               2.1 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 บริษัท บ. กับบริษัทฯ ได้ร่วมกันทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เนื่องจาก บริษัท บ. และนาย ส. (ผู้ค้ำประกัน) ได้ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลจังหวัด ทำให้ ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ได้ โดยลูกหนี้ยอมรับว่ามีหนี้ค้างชำระอยู่กับบริษัทฯ ตามคำพิพากษา เป็นเงินต้นจำนวน 26,854,023.23 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 33,598,405.25 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 60,452,428.48 บาท ซึ่งได้ จัดให้มีหลักประกัน คือ
                    2.1.1 จดทะเบียนจำนองตราจองเลขที่ 04 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 82 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของนาย ส. ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดจำนองตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันฉบับ ลงวันที่ 14 มกราคม 2531 และลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2537
                    2.1.2 จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส.3 ตั้งอยู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม 80 แปลง ของ บริษัท บ. ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดจำนองตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2537
                    2.1.3 ให้มีบุคคลค้ำประกัน คือ นาย ส. ตามสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 วันที่ 10 ตุลาคม 2540 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541
               2.2 บริษัทฯ ในฐานะเจ้าหนี้ กับนาย ส. ในฐานะลูกหนี้ (ผู้ค้ำประกัน) ได้จัดทำหนังสือรับรองหนี้ที่ต้องปรับปรุง โครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 กรณีบริษัท บ. ในฐานะลูกหนี้ เป็นหนี้บริษัทฯ ตามสัญญาเงินกู้ระหว่างปี 2537 ถึงปี 2541 รวม 31 ฉบับ จำนวนเงิน 28,718,684 บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตาม หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548
               2.3 นาย ส. บริษัทฯ และการเคหะฯ ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบัน การเงินให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็น สถาบันการเงินเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 เนื่องจาก บริษัท บ. ไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ นาย ส. จึงโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม 3 แปลง ให้การเคหะฯ ซึ่งได้นำมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 โดยตกลงซื้อขาย ตามสัญญา ซื้อขายลงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ราคา 30,000,000 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นจำนวน 13,255,000 บาท โดยรับรองว่า ลูกหนี้คงค้างชำระอยู่กับเจ้าหนี้ ณ วันที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รวม 2 สัญญา เป็นเงินจำนวน 70,800,284.64 บาท และในขณะที่ทำสัญญาโอนอสังหาริมทรัพย์ตามหนังสือรับรองหนี้ฯ ลูกหนี้ยังมี หนี้คงค้างชำระ จำนวน 70,800,284.64 บาท โดยทั้ง 3 ฝ่ายตกลงรับว่า ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันต้องนำเงินจำนวน 28,000,000 บาท ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งได้ยื่นหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ฯ เพื่อขอรับสิทธิ ประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่าน
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัท บ. (ลูกหนี้) ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากบริษัทฯ (เจ้าหนี้) ระหว่างปี 2537 ถึงปี 2541 โดยนาย ส. (ผู้ค้ำประกัน) ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นการประกันการกู้ยืมของบริษัท บ. ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน กับบริษัทฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่า มาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งปรากฏตามหนังสือรับรองหนี้ที่ต้องดำเนินการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฯ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 บริษัท บ. ลูกหนี้บริษัทฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้ทำสัญญาปรับปรุง โครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 โดยบริษัทฯ เจ้าหนี้ยินยอมให้บริษัท บ. ลูกหนี้นำที่ดินของนาย ส. ซึ่งเป็นหลักประกัน ออกขายให้แก่บุคคลภายนอก ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ส. คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 63 (เดิมคือ ตราจองเลขที่ 04) และที่ดิน โฉนดเลขที่ 69 (เดิมคือ น.ส.3 เลขที่ 82) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ซึ่งนาย ส. ได้ขายที่ดินให้แก่ การเคหะฯ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2549 เพื่อนำเงินไปชำระให้แก่บริษัทฯ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ถูกต้องตาม เอกสารประกอบการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เงินได้ซึ่งนาย ส. ได้รับจากการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินเลขที่ 63 และ เลขที่ 69 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบัน การเงิน ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ให้ถือราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคา ที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้นของสังหาริมทรัพย์แต่ละรายเป็นรายแปลงหรือรายโฉนด เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามมาตรา 49 ทวิ และ 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
          สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจาก การโอนอสังหาริมทรัพย์ของนาย ส. ไม่ได้กระทำระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2548 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากนาย ส. มิได้มีการกระทำที่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครอง เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์มา จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้า หรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ดังนั้น นาย ส. จึงอยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ จากใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้ง สิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้: 71/36027

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020