เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/4699
วันที่: 6 สิงหาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าส่งเสริมการขาย
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ และให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง สินค้าประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้า อุปโภคอื่นๆ ในการประกอบกิจการดังกล่าวผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าได้ให้ส่วนลด เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน แก่บริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
          1. ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าที่เข้าร่วมกับบริษัทฯ ในการส่งเสริมการขายส่วนตัวของตน ด้วยการให้ลูกค้าเช่าซื้อทรัพย์สินโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าอัตรา ตลาดทั่วไป โดยภาระดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อทรัพย์สินนั้น ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าจะเป็นผู้รับภาระ แทนลูกค้าทั้งจำนวน หรือบางส่วน ตามข้อตกลงการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายระหว่างบริษัทฯ กับผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้า
          2. ในการประกอบกิจการบริษัทฯ จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในด้านการตลาด ค่าโฆษณา หรือส่งเสริมการขายจากผู้ขาย หรือผู้ผลิตสินค้าเพื่อนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในด้านการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ โบว์ชัวร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยบริษัทฯ จะ เป็นผู้ดำเนินการเอง และเรียกเก็บจากผู้ขาย หรือผู้ผลิตสินค้าเป็นรายเดือนจำนวนไม่เท่ากัน แต่ละราย และไม่ต้องมีเอกสารหลักฐานการชำระเงิน หรือรายละเอียดการจัดกิจกรรม ประกอบการเบิกเงิน และไม่มีการทำสัญญาระหว่างกันแต่อย่างใด
          3. บริษัทฯ จ่ายค่าส่งเสริมการขายให้แก่ผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพื่อให้ประสานงานกับผู้เช่าซื้อ และดำเนินการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ต่อกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งส่งมอบเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์แก่บริษัทฯ
          4. บริษัทฯ ขอทราบว่า
               4.1 เงินที่บริษัทฯ ได้รับถือเป็นดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้รับจากการให้เช่าซื้อ ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามงวดชำระค่าเช่าซื้อของลูกค้าแต่ละราย หรือถือเป็นเงินประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้เพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงิน และผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และเงินที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวถือเป็นประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งผู้รับเงินไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ใช่หรือไม่ และความรับผิดของ ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินสนับสนุนการขายเกิดขึ้นเมื่อใด
               4.2 บริษัทฯ จะต้องนำเงินที่ได้รับตาม 2. ถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ ของบริษัทฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายค่าใช้จ่าย หรือในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับ เงินคืนจากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้า และผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ และเงินที่ บริษัทฯ ได้รับดังกล่าว ถือเป็นเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริม การขาย ไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ต้องนำมาเป็นฐาน ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่ และภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ค่าโฆษณา หรือส่งเสริมการขาย เป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
               4.3 เงินที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ตาม 3. ถือว่า ผู้แทนจำหน่ายเป็นผู้ให้บริการที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้รับบริการ และบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. หากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยซึ่งผู้ขายหรือผู้ผลิตรับภาระแทน ลูกค้าให้แก่บริษัทฯ เพื่อสนับสนุนการขาย นั้น เงินที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวไม่ว่าจะปฏิบัติ ตามวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจาก การส่งเสริมการขายบริษัทฯ ต้องนำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้า ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเงินสนับสนุนที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวไม่ถือเป็น มูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
          2. หากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าจ่ายเงินให้แก่บริษัทฯ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายใน ด้านการตลาด ค่าโฆษณา หรือส่งเสริมการขายโดยใช้เป็นค่าใช้จ่ายในด้านการจัดทำสื่อ สิ่งพิมพ์ โบว์ชัวร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าของผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้า นั้น เงิน สนับสนุนที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนการโฆษณา บริษัทฯ จึงต้อง นำไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มี หน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 2.0 ตามข้อ 10 ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเนื่องจากค่าตอบแทน ที่บริษัทฯ ได้รับ นั้น เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการให้บริการ บริษัทฯ จึงต้องนำรายรับ ดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(10) และ มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการให้บริการนั้น ถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อดังกล่าวได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. หากบริษัทฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้แทนจำหน่ายเพื่อให้ผู้แทนจำหน่าย ประสานงานกับผู้เช่าซื้อ และดำเนินการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ต่อกรมการขนส่งทางบก เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนเนื่องจากการรับจ้างทำของ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเงินค่าตอบแทนที่ผู้แทนจำหน่ายได้รับ เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการให้บริการ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตาม มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/36077

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020