เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./5181
วันที่: 21 สิงหาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าธรรมเนียมจากการให้บริการบัตรเครดิต และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีค่าธรรมเนียมจากการให้กู้ยืมเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(5) และมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัท ก. มีความประสงค์จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นบัตรเครดิตที่รวมบริการบัตร เครดิต และบริการสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายในบัตรเดียวกัน
          2. ลูกค้าที่ได้รับอนุมัติให้ใช้บัตร "ฟ." สามารถนำบัตรดังกล่าว ไปใช้เป็นบัตรเครดิต เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการตามปกติ ใช้บัตรดังกล่าวเบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกค้าได้ตามวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล
          3. ในการชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการบัตรเครดิตและหรือการใช้บริการสินเชื่อ ส่วนบุคคลดังกล่าว ลูกค้าจะชำระหนี้รวมทั้งค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงไว้กับ บริษัท ก.
          4. ตามสัญญาการใช้บัตร "ฟ." ซึ่งได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท ก. จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแยกเป็น 2 ส่วนดังนี้
               4.1 ในส่วนของการให้บริการบัตรเครดิต บริษัท ก. เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้
               (ก) ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี
               (ข) ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบข้อมูลเครดิต
               (ค) ค่าธรรมเนียมในการชำระเงิน ณ จุดบริการ
               (ง) ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ โดยไม่คำนึงว่าหนี้ดังกล่าว เกิดขึ้นจากการให้บริการในส่วนใดและมีสัดส่วนเท่าใด
               (จ) ค่าธรรมเนียมในการขอใบแจ้งยอดบัญชี
               (ฉ) ค่าธรรมเนียมในการออกบัตรใหม่ทดแทนบัตรเดิม กรณีชำรุด/สูญหาย
               (ช) ค่าธรรมเนียมในการขอสำเนาใบบันทึกรายการขาย
               4.2 ในส่วนของการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัท ก. เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้
               (ก) ค่าธรรมเนียมในการขอรหัสใหม่ทดแทนรหัสเดิม
               (ข) ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ และค่าอากรแสตมป์
               (ค) ค่าใช้จ่ายใช้ในการบริการเครื่องเอทีเอ็มเพื่อเบิกเงินจากวงเงินสินเชื่อ ส่วนบุคคล
               (ง) ค่าปรับเช็คคืน
               (จ) ค่าปรับหักบัญชีธนาคารเพื่อชำระหนี้ไม่ผ่าน ในกรณีหักเงินผ่านบัญชี ธนาคาร
          5. บริษัท ก. ได้หารือว่า บริษัท ก. มีหน้าที่ต้องนำค่าธรรมเนียมตาม 4.1 มา รวมคำนวณเป็นมูลค่าในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ กิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) พ.ศ. 2534 และต้องนำค่าธรรมเนียมตาม 4.2 มารวมคำนวณเป็นรายรับในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(5) และมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          เนื่องจากการให้บริการบัตรเครดิต "ฟ." " นั้น ประกอบด้วยบริการบัตรเครดิต และ บริการสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายในบัตรเดียวกัน และโดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติ ให้บริษัท ก. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้บริการทั้ง 2 ส่วน โดยกำหนดให้ค่าธรรมเนียม ตาม 4.1 เป็นค่าธรรมเนียมภายใต้บริการบัตรเครดิต ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 23 มีนาคม 2547 และค่าธรรมเนียมตาม 4.2 เป็น ค่าธรรมเนียมภายใต้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อ ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ดังนั้น บริษัท ก. จึงมีภาระภาษี มูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะจากการให้บริการดังกล่าว ดังนี้
          1. ค่าธรรมเนียมตาม 4.1 เข้าลักษณะเป็นค่าธรรมเนียมจากการให้บริการบัตรเครดิต หรือเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการบัตรเครดิต และถือเป็นรายรับจากกิจการเฉพาะอย่าง ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่อยู่ภายในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งกฎหมาย กำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 246) พ.ศ. 2534 บริษัท ก. จึงต้องนำรายรับดังกล่าว มารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 91/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ค่าธรรมเนียมตาม 4.2 เป็นค่าตอบแทนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดอกเบี้ยหรือ ค่าธรรมเนียมจากการให้กู้ยืมเงินหรือเกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นรายรับ จากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ บริษัท ก. ต้องนำรายรับดังกล่าว มารวมคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(5) และมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/36106

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020