เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8306
วันที่: 2 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าสิทธิที่ชำระไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78/2 (1) มาตรา 89(3) มาตรา 89/1 และมาตรา 82/13 แห่งประมวล รัษฎากร
ข้อหารือ          กรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบการสำแดงราคาสินค้านำเข้าเพื่อเป็นฐานการคำนวณอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้นำเข้าหลายราย ปรากฏว่า ผู้นำเข้าสำแดงราคาสินค้า โดยไม่ได้นำค่าสิทธิที่ชำระไปยังต่างประเทศมารวมเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขายของที่นำเข้า ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้และการกำหนดราคาศุลกากร ข้อ 9 กำหนดให้นำค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับของที่นำเข้าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นเงื่อนไขในการขายของนั้น มารวมไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้า โดยการสำแดงราคาของผู้นำเข้าดังกล่าวเพื่อให้มีการชำระค่าภาษีอากรต่ำลงและเมื่อผู้นำเข้าขอให้กรมศุลกากรพิจารณาเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง กรมศุลกากรจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์โดยเปรียบเทียบปรับสองเท่าของอากรที่ขาด และให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนพร้อมเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า ในบางคดีค่าสิทธิที่ผู้นำเข้าชำระไปยังต่างประเทศนั้น ผู้นำเข้าได้มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าสิทธิ ตามแบบ ภ.พ.36 ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นแนวทางเดียวกันในการเรียกเก็บค่าภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขาด กรมศุลกากรจึงขอทราบว่า
          1. กรณีการตรวจพบความผิดของเจ้าหน้าที่ศุลกากรดังกล่าว ผู้นำเข้ามีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อใด (ขณะนำเข้าหรือขณะมีการชำระค่าสิทธิ)
          2. กรณีผู้นำเข้ามิได้ชำระค่าสิทธิที่เป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากรในขณะนำเข้า ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายศุลกากรนั้น ผู้นำเข้าจะมีความผิดตามประมวลรัษฎากร ฐานไม่ได้ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ครบถ้วน เนื่องจากการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยหรือไม่ และถ้ามีความผิดจะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร ในอัตราเท่าใด นับตั้งแต่เมื่อใด (ขณะนำเข้าหรือขณะมีการชำระค่าสิทธิ)
          3. กรณีผู้นำเข้ามีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าดังกล่าว ในขณะนำเข้า กรมศุลกากรสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้นำเข้าได้ชำระไว้แล้วหลังวันนำเข้า ตามแบบ ภ.พ.36 ไปหักกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องเสียในการประเมินเมื่อตรวจพบความผิดได้หรือไม่ และผู้นำเข้าจะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1 และ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจพบว่า ผู้นำเข้าสำแดงราคาสินค้า โดยไม่ได้นำค่าสิทธิมารวมเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าที่นำเข้า ซึ่งกรมศุลกากรจะพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและเปรียบเทียบปรับสองเท่าของอากรที่ได้ชำระไว้ขาด และผู้นำเข้ายังต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย สำหรับกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในขณะนำเข้าเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า ทั้งนี้ ตามมาตรา 89(3) มาตรา 89/1 และมาตรา 78/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตาม 3 เนื่องจากกรณีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่ ผู้นำเข้าสินค้าตามมาตรา 82(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า ซึ่งใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีเจ้าพนักงานศุลกากรได้ประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.ตามมาตรา 79/2(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ภายหลังวันนำเข้าเพื่อชำระค่าสิทธิไปยังต่างประเทศ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษี ได้แก่ มูลค่า ทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ ผู้นำเข้าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการมิใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นเพียงผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อผู้นำเข้าต้องชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอันเกิดจากการนำเข้าที่ผู้นำเข้าชำระขาดไป ผู้นำเข้าดังกล่าวไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร ไปหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้นำเข้าจะต้องเสียกรณีการนำเข้าสินค้า
เลขตู้: 71/36237

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020