เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1182
วันที่: 29 มกราคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีอายุความการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้
ข้อกฎหมาย: ตามมาตรา 193/33 (5) และมาตรา 193/34 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ           บริษัท อ. จำกัด แจ้งว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการขายเคมีภัณฑ์ ลูกค้ามีทั้งประเภทซื้อสินค้าไปเพื่อจำหน่ายหรือนำไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย บริษัทฯ ขอหารือว่า
               1. กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง กรณีผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบให้ลูกค้า มีกำหนดอายุความห้าปี ตามมาตรา 193/33 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกำหนดอายุความสองปี ตามมาตรา 193/34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายและหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ ตามข้อ 3 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ใช่หรือไม่ อย่างไร
               2. กรณีลูกค้าซื้อสินค้าไปเพื่อจำหน่ายหรือนำไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อออกจำหน่าย ถือว่า ตามลักษณะการประกอบกิจการของลูกค้าในการซื้อสินค้าได้ทำเพื่อกิจการของลูกค้า ดังนั้น สิทธิเรียกร้องที่บริษัทฯ มีต่อลูกค้าซึ่งเป็นลูกหนี้ในลักษณะนี้มีกำหนดอายุความห้าปี ตามมาตรา 193/33 (5)และมาตรา 193/34 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับอายุความตามข้อ 3 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ใช่หรือไม่ อย่างไร
               3. กรณีลูกหนี้ขอผ่อนชำระหนี้ค่าสินค้ามาระยะหนึ่งแล้วหยุดชำระ ตามมาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้อายุความสะดุดหยุดลง และให้เริ่มนับอายุความใหม่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดแล้ว เช่นเดียวกับอายุความตามข้อ 3 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ใช่หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           1. ตามข้อ 1. และข้อ 2. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายเคมีภัณฑ์ บริษัทฯ มีลูกค้าทั้งประเภทที่ซื้อสินค้าไปเพื่อจำหน่าย หรือนำไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย ต่อมาบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินค้าจากผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกหนี้ที่สั่งซื้อสินค้ามาเพื่อกิจการของลูกหนี้เองภายในกำหนดเวลาอายุความห้าปี ตามมาตรา 193/33 (5) และมาตรา 193/34 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกค้าชำระหนี้ค่าสินค้าตามข้อเท็จจริงแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ ตามข้อ 3 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
          2. ตามข้อ 3. กรณีลูกหนี้ขอผ่อนชำระหนี้ค่าสินค้าให้บริษัทฯ มาระยะหนึ่งแล้วหยุดชำระ ถือได้ว่า เป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง หากได้กระทำการดังกล่าวภายในอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีลูกหนี้ขอผ่อนชำระหนี้ค่าสินค้าให้บริษัทฯ โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว แม้ว่าลูกหนี้ไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความ ถือได้ว่า ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความ แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลภายนอก ตามมาตรา 193/24 และมาตรา 193/28 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากต่อมาลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น บริษัทฯ ไม่สามารถอ้างสิทธิตามหลักฐานใหม่โดยอาศัยมูลหนี้เดิมที่ได้ขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากเป็นหนี้ที่ขาดอายุความจึงไม่เป็นไปตามข้อ 3 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ที่บริษัทฯ จะนำมาจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากรได้
เลขตู้: 78/39474

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020