เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2469
วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายต่อบริการเชื่อมต่อเครือข่ายสื่อสารทางไกลระหว่างประเทศผ่านระบบ Conferencing
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 (3) มาตรา 40 (8) มาตรา 70 มาตรา 77/2 วรรค 3 และมาตรา 83/6(2)แห่งประมวล รัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการให้บริการทางด้านกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารครบวงจร รวมทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว
          2. บริษัทฯ เป็นผู้ได้รับอนุญาตประเภทขายต่อบริการ (Resale License)เพื่อเป็นผู้ให้บริการ Conferencing แก่ลูกค้าในประเทศไทยให้สามารถติดต่อสื่อสารทางไกลระหว่างกันได้โดยตรงในกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุม การฝึกอบรม การบรรยายและนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบของเสียง (Audio Conference) จอภาพ (VDO Conference) โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำบริการ BTP ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักร และประกอบกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารระหว่างประเทศ มาขายต่อให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยผ่านการทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย (Distribution Agreement)
          3. วิธีการทำงานของระบบ Conferencing มีดังต่อไปนี้
               3.1 เมื่อจะใช้บริการ Conferencing ลูกค้าในประเทศไทยจะกดโทรศัพท์หมายเลข xx (เป็นหมายเลขที่กสทช. เปิดให้บริษัทฯ เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกรณี Conferencing ไปยังต่างประเทศ)
               3.2 ลูกค้าจะต้องใส่รหัส passcode ที่ได้รับ
               3.3 ระบบจะเชื่อมต่อลูกค้าเข้ากับผู้อื่นที่เข้าร่วม Conference ในครั้งนั้น
          4. ขั้นตอนการดำเนินกิจการของบริษัทฯ มีดังต่อไปนี้
               4.1 ลูกค้าทำสัญญาขอสมัครบริการกับบริษัทฯ
               4.2 บริษัทฯ แจ้งขอ passcode ไปยัง BTP
               4.3 BTP ส่ง passcode ให้แก่ลูกค้าโดยตรงเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล
               4.4 บริษัทฯ อาจมีการฝึกอบรมให้ลูกค้าเกี่ยวกับการใช้ระบบ Conferencing หากลูกค้าต้องการและในกรณีที่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถใช้บริการได้ ลูกค้าสามารถติดต่อมายังบริษัทฯ หากบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าได้ บริษัทฯ จะช่วยประสานงานกับ BTP เพื่อช่วยแก้ปัญหา หรือลูกค้าจะติดต่อกับ BTP โดยตรงก็ได้
               4.5 BTP ส่งรายงานเป็นรายเดือนเกี่ยวกับการใช้บริการของลูกค้ามายังบริษัทฯ
               4.6 บริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าบริการ Conferencing ไปยังลูกค้าตามอัตราที่บริษัทฯ กำหนด โดยมีฐานการคำนวณจากจำนวนครั้งที่มีการใช้งานของลูกค้า จำนวนผู้เข้าร่วมและระยะเวลาที่ใช้บริการในแต่ละครั้งเป็นนาที
               4.7 บริษัทฯ ชำระเงินค่าบริการ Conferencing (ซึ่งรวมไปถึง ค่าบริการ
          5. ในการขายต่อบริการ บริษัทฯ ทำสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าของบริษัทฯ โดยตรง ไม่มีสัญญาใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันระหว่างลูกค้ากับ BTP ดังนั้น เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น บริษัทฯ ในฐานะเป็นคู่สัญญากับลูกค้าย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อลูกค้าเองโดยตรง
          6. บริษัทฯ ทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายกับ BTP ซึ่งไม่มีข้อกำหนดหรือให้อำนาจ BTP ในอันที่จะปฏิเสธการให้ passcode แก่ลูกค้าของบริษัทฯ เนื่องจากเมื่อบริษัทฯ ซื้อบริการ Conferencing จาก BTP เพื่อนำมาขายต่อให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ ในประเทศไทยแล้ว ก็เป็นสิทธิเด็ดขาดของบริษัทฯ ที่จะนำสินค้าดังกล่าวไปขายให้แก่ลูกค้ารายใดก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้บริษัทฯ มีอิสระที่จะกำหนดราคาขายต่อบริการให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ ส่วนรายการราคา คำแนะนำในการให้ส่วนลด และราคาขายต่อที่ BTP แนะนำตามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย เป็นเพียงแนวทางในการกำหนดราคาเท่านั้น บริษัทฯ มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะใช้ราคาหรือส่วนลดตามที่ BTP แนะนำหรือไม่ก็ได้
           บริษัทฯ ได้หารือว่า
          1. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การที่บริษัทฯ จ่ายค่าบริการ Conferencing ให้แก่ BTP มิใช่เป็นการจ่ายค่าตอบแทนอันเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร หากแต่เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
          2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่บริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้แก่ BTP ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีตาม 1. ค่าบริการ Conferencing ที่ BTP ได้รับจากบริษัทฯ ไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับเนื่องจากจากการตอบแทนการได้มาหรือได้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิในลักษณะเดียวกันอันจะถือเป็นเงินได้ค่าสิทธิตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร BTP จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่หักและนำส่งภาษีแต่อย่างใด
          2. กรณีตาม 2. BTP ได้ให้บริการ Conferencing ในต่างประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการ Conferencing ดังกล่าวออกไป จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39513

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020