เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2027
วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2558
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีการให้เช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว
ข้อกฎหมาย: ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)
ข้อหารือ           สมาคม ธ. (สมาคมฯ) ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอากรแสตมป์ กรณีการให้เช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า สมาคมฯ ประกอบด้วยสมาชิก ประเภทสถาบันการเงิน บริษัทให้เช่าซื้อและลีสซิ่ง โดยสมาคมฯ มีสมาชิกที่เป็นบริษัทให้เช่าซื้อของค่ายรถยนต์ต่างๆ จำนวน 33 บริษัท(ผู้ประกอบธุรกิจฯ) ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ สมาคมฯ ได้หารือว่า
          1. ผู้ประกอบธุรกิจฯ ซึ่งมิใช่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 จะต้องชำระอากรแสตมป์ด้วยการปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน รวมถึง คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร และใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือ โอนกรรมสิทธิ์ ยานพาหนะ เท่านั้น ไม่สามารถชำระอากรเป็นตัวเงิน (แบบ อ.ส. 4 ข) ได้ ถูกต้องหรือไม่
          2. ผู้ประกอบธุรกิจฯ ซึ่งมิใช่สถาบันการเงินแต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ จะต้องชำระอากรแสตมป์ด้วยการปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน รวมถึง คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร และใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือ โอนกรรมสิทธิ์ ยานพาหนะ เท่านั้น ไม่สามารถชำระอากรเป็นตัวเงิน (แบบ อ.ส. 4 ข) ได้ เนื่องจากคำนิยามของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ) ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ข้อ 1. มิได้ครอบคลุมถึงสินค้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ถูกต้องหรือไม่
          3. หากความเข้าใจของสมาคมฯ ตามข้อ 1. และข้อ 2. ถูกต้องแล้ว สมาคมฯ เห็นว่า
               3.1 การที่ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ข้อ 2 (2) ข้อ 2 (11) ข้อ 3 (2) (ก) และ ข้อ 3 (11) มีหลักการให้ไม่รวมถึงกรณียานพาหนะที่ใช้แล้ว ส่งผลให้สมาชิกสมาคมฯ บางแห่งซึ่งให้เช่าซื้อทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์ที่ใช้แล้ว มีต้นทุนเพิ่มในการจัดแยกและเตรียมการเพื่อชำระอากรแสตมป์ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน อันเป็นการไม่สะดวกกับการดำเนินธุรกิจและไม่จูงใจในการชำระอากรให้รัฐ
               3.2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ข้อ 2 (2) และ ข้อ 3 (2) (ข) มีหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งให้เช่าซื้อทรัพย์สิน ให้ชำระอากรเป็นตัวเงิน โดยไม่จำกัดว่าเป็นรถยนต์ใช้แล้วหรือรถยนต์ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่คำนิยามของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับไม่ครอบคลุมถึงสินค้าประเภทรถยนต์และจักรยานยนต์อันแตกต่างจากกรณีนิติบุคคลให้เช่าซื้อรถยนต์ในข้อ 3 (2) (ก) ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ
               3.3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ข้อ 2 (9) และ ข้อ 3 (9) มีหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินเท่านั้นที่ต้องชำระอากรแสตมป์สำหรับสัญญาค้ำประกันเป็นตัวเงิน
               3.4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ข้อ 2 (10) กำหนดให้เสียอากรเป็นตัวเงินสำหรับคู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารที่ต้นฉบับแห่งตราสารนั้นจะต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน
               3.5 กรณีตาม 3.1 ถึง 3.4 ข้างต้น ส่งผลให้สมาชิกของสมาคมฯ บางแห่ง ที่มิได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ไม่ได้รับความสะดวกในการชำระอากรให้รัฐ ทั้งที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์เช่นเดียวกับนิติบุคคล ผู้ประกอบกิจการหรือสถาบันการเงินบางแห่ง ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ เพราะต้องนำเอกสารไปยื่นให้เจ้าหน้าที่สรรพากรสลักหลัง และชำระอากรแสตมป์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเนื่องจากสัญญาและเอกสารประกอบต่างๆ อาจสูญหายหรือเสียหายได้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระงานและต้นทุนให้ภาคเอกชนและฝ่ายรัฐโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ โดยกำหนดให้สมาชิกของสมาคมฯ ที่มิใช่สถาบันการเงิน ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับสถาบันการเงิน ในการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ และให้ใช้หลักการนี้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นยานพาหนะที่ใช้แล้วหรือไม่
แนววินิจฉัย           ที่สมาคมฯ เข้าใจว่า สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ เท่านั้นที่จะต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร (แบบ อ.ส. 4 ข) นั้นถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่มิได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ สามารถเลือกที่จะนำอากรแสตมป์ปิดทับลงบนตราสารต่างๆ ข้างต้นหรือจะนำตราสารไปชำระอากรเป็นตัวเงิน (แบบ อ.ส. 4) ก็ได้
เลขตู้: 78/39500

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020