เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/7157
วันที่: 5 สิงหาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 74(1)(ค) มาตรา 77/1(8)(ฉ) มาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
ข้อหารือ           บริษัท A จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงาน ให้บริการพื้นที่ร้านค้าและให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัท A มีความประสงค์ที่จะโอนขายกิจการทั้งหมดของบริษัท A ให้แก่ บริษัทผู้รับโอนโดยกิจการทั้งหมดที่บริษัท A จะโอนประกอบด้วย กิจการให้เช่า สัญญาเช่า สัญญาบริการ ลูกหนี้การค้า เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ยืม และหนี้สินต่างๆ พร้อมทั้งที่ดินและอาคารรวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ปรากฏอยู่ในงบดุล ณ วันโอนกิจการทั้งหมด โดยบริษัท A และบริษัทผู้รับโอนจะดำเนินการตามขั้นตอนของการโอนกิจการทั้งหมด บริษัท A เข้าใจว่า การโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท A ให้กับบริษัทผู้รับโอนตามลำดับข้างต้นจะได้รับการยกเว้นภาษี ตามมาตรการการโอนกิจการทั้งหมดตามรายละเอียด ดังนี้
          1. บริษัท A ไม่ต้องนำกำไรขาดทุนจากการโอนกิจการทั้งหมดไปรวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74 (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ บริษัท A ในฐานะผู้โอนไม่ต้องนำรายได้ที่ได้รับเป็นการตอบแทนจากการโอนกิจการทั้งหมดหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการโอนกิจการทั้งหมดไปรวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท A ดังนั้น ถึงแม้ว่า บริษัท A จะมีกำไรจากการโอนกิจการทั้งหมด บริษัท A ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรดังกล่าว หากบริษัท A ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท A ภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการโอนกิจการแล้วก็ถือว่า การโอนกิจการของบริษัท A เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 74 (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. เนื่องจากบริษัท A ได้จดทะเบียนเลิกทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีผลในวันโอนกิจการทั้งหมด บริษัท A จึงเข้าใจว่า การโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท A ไม่ถือเป็นการขายตามบทบัญญัติของภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท A จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. บริษัท A ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 โดยบริษัท A ต้องโอนกิจการและมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555บริษัท A จึงขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัท A เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามที่ได้กล่าวข้างต้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เพื่อบริษัท A จะได้นำไปถือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัท A ประสงค์ที่จะโอนขายกิจการทั้งหมดของบริษัท A ให้แก่ บริษัทผู้รับโอน โดยกิจการทั้งหมดที่บริษัท A จะโอนประกอบด้วย กิจการให้เช่า สัญญาเช่า สัญญาบริการ ลูกหนี้การค้า เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ยืม และหนี้สินต่างๆ พร้อมทั้งที่ดินและอาคารรวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งปรากฏอยู่ในงบดุล ณ วันโอนกิจการทั้งหมด แยกพิจารณาได้ ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท A ผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ แม้ยังไม่เสร็จการชำระบัญชีก็ตาม ทรัพย์สินที่บริษัท A ผู้โอนได้โอนให้กับบริษัทผู้รับโอนจะต้องตีราคาตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัท A ผู้โอน ดังนั้น หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น บริษัท A ผู้โอนไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74(1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันระหว่างบริษัท A ผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอน หากบริษัทผู้รับโอนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัท A ผู้โอนได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการตั้งแต่วันโอนกิจการเป็นต้นไป การโอนกิจการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมด ซึ่งไม่ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A ผู้โอนจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวแต่อย่างใด
          3. ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ การโอนกิจการของบริษัท A ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากบริษัทผู้รับโอนกิจการได้ยื่นแบบแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นและแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากร สำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด (ค.อ.1) แบบแจ้งรายชื่อบริษัทที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด (ค.อ.2) แบบแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด (ค.อ.3) และแบบแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด (ค.อ.4) โดยบริษัท A ผู้โอนมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและส่งมอบหนังสือรับรองแสดงการเลิกกิจการจากกระทรวงพาณิชย์ของบริษัท A ผู้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัทผู้รับโอนพร้อมการยื่นแบบ ค.อ.1 แบบ ค.อ.2 แบบ ค.อ.3 และแบบ ค.อ.4 และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามข้อ 3(1) (2) (3) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 แล้ว การโอนอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
เลขตู้: 78/39813

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020