เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/7579
วันที่: 21 สิงหาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวดให้ลูกค้าในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : กรณีจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวดให้ลูกค้าในต่างประเทศ
ข้อหารือ           1. บริษัทA จำกัด ทะเบียนนิติบุคคล ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายบรรจุภัณฑ์ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีนาย ก. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท
          2. บริษัทA (ผู้ขาย) ได้ทำบันทึกข้อตกลงการจำหน่ายพลาสติกขึ้นรูป (Preform Supply Memorandum) กับ W (ผู้ซื้อ) ซึ่งเป็นลูกค้าที่ประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทA ตกลงจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวด (Chum Power 6 Cavities) เพื่อใช้ในโรงงานของ W และ W รับประกันการซื้อพลาสติกขึ้นรูป (Preforms) กับบริษัทA อย่างน้อย 15 ล้านชิ้นต่อปี เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและจูงใจให้ผู้ซื้อสั่งซื้อ Preforms ซึ่งเป็นวัสดุกึ่งสำเร็จรูปที่นำไปใช้กับเครื่องเป่าขวด ผลิตเป็นขวดพลาสติก และนำไปใช้ในกิจการของผู้ซื้อ ทำให้ยอดขายจากการส่งออกของบริษัทA เพิ่มขึ้น ภายใต้เงื่อนไข และข้อกำหนดสรุปได้ ดังนี้
               2.1 บริษัทA ตกลงจ่ายเงิน 50% ของราคาเครื่องเป่าขวด จำนวน USD 90,000 หลังจากนั้น W จะชำระราคาส่วนที่เหลือ จำนวน USD 90,000 เต็มจำนวน ซึ่ง W เป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษา และเก็บเครื่องเป่าขวด โดยบริษัทA โอนเงิน จำนวน USD 90,000 เข้าบัญชีธนาคารของ W หลังจากนั้น W จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าเครื่องเป่าขวดให้กับ Chum Power โดยตรง และ W จะส่งสำเนาใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารให้กับบริษัทA เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชี
               2.2 W จะรับประกันการซื้อ Preforms กับบริษัทA อย่างน้อย 15 ล้านชิ้นต่อปี เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ถ้าปริมาณการสั่งซื้อทั้งหมดไม่ถึง 45 ล้านชิ้น ระหว่างระยะเวลาของสัญญา W จะคืนเงินค่าเครื่องเป่าขวดให้กับบริษัทA ตามอัตราส่วน เนื่องจากการจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวดมีผลบังคับคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
          3. บริษัทA ขอทราบว่า
               3.1 บริษัทA จ่ายเงินค่าซื้อเครื่องเป่าขวดให้ W ลูกค้าที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีอนุสัญญาภาษีซ้อน เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าของบริษัทA บริษัทA ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
               3.2 บริษัทA จ่ายเงินค่าซื้อเครื่องเป่าขวด โดยวิธีการโอนเงินไปต่างประเทศ ไม่ใช่การกระทำใด ๆอันเป็นการขายสินค้า หรือให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (8) (9) (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ อย่างไร
               3.3 เมื่อบริษัทA จ่ายเงินค่าซื้อเครื่องเป่าขวดแล้วในงวดบัญชีใด บริษัทA ต้องบันทึกบัญชีเป็นค่าติดตั้งเครื่องจักรเพื่อรอตัด หรือตั้งเป็นสินทรัพย์ หรือสิทธิอื่น ๆ เพื่อรอตัดทั้งจำนวนใช่หรือไม่ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรต้องตัดปีละไม่เกิน 20% หรือต้องตัดจ่ายภายใน 3 ปี ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ได้หรือไม่
               3.4 หากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าไม่ถึง 45 ล้านชิ้น ในระหว่างระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลง ส่วนต่างที่ลูกค้าต้องจ่ายคืนเงินค่าซื้อเครื่องเป่าขวดให้กับบริษัทA ถือว่าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการที่บริษัทA ต้องมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           1. กรณีตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 บริษัทA ขาย Preforms ให้กับ W ลูกค้าที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งในการขายสินค้าดังกล่าว บริษัทA กับ W ได้ทำบันทึกข้อตกลงการจำหน่าย Preforms โดยบริษัทA ตกลงจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวดเพื่อนำไปใช้กับ Preforms จำนวน USD 90,000 และ W เป็นผู้ชำระราคาส่วนที่เหลือ จำนวน USD 90,000 โดย W จะเป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษา เก็บเครื่องเป่าขวด และมีเงื่อนไขว่า W ต้องสั่งซื้อ Preforms กับบริษัทA อย่างน้อย 15 ล้านชิ้นต่อปี เป็นเวลา 3 ปี หาก W ผิดเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงการจำหน่าย Preforms W ต้องคืนเงินค่าเครื่องเป่าขวดให้กับบริษัทA ตามอัตราส่วนที่ตกลงไว้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เนื่องจากบริษัทA ต้องการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปประเทศออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น ถือว่า บริษัทA ได้ให้ประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายกับผู้ซื้อสินค้าเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทA ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่ง ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และหากเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวดดังกล่าวที่ W ได้รับจากบริษัทA โดย W ไม่ได้กระทำการอื่นใดเป็นการตอบแทนบริษัทA รายได้ดังกล่าวจึงไม่ใช่มูลค่าที่ W ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประการใด
          2. กรณีตามข้อ 3.3 และข้อ 3.4 บริษัทA ผู้ขายตกลงจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวด จำนวน USD 90,000 ตามบันทึกข้อตกลงการจำหน่าย Preforms ระหว่าง บริษัทA กับ W เพื่อนำเครื่องเป่าขวดไปใช้กับ Preforms ในโรงงานของ W โดยมีเงื่อนไขว่า W ต้องสั่งซื้อ Preforms กับบริษัทA อย่างน้อย 15 ล้านชิ้นต่อปี เป็นเวลา 3 ปี หาก W ผิดเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงการจำหน่าย Preforms W ต้องคืนเงินค่าเครื่องเป่าขวดให้กับบริษัทA ตามอัตราส่วนที่ตกลงไว้ โดยการจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อเครื่องเป่าขวดมีการกำหนดไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เนื่องจากเป็นการสร้างความมั่นใจและจูงใจให้ผู้ซื้อสั่งซื้อ Preforms ซึ่งเป็นวัสดุกึ่งสำเร็จรูปที่นำไปใช้กับเครื่องเป่าขวด ผลิตเป็นขวดพลาสติก และนำไปใช้ในกิจการของผู้ซื้อ ทำให้ยอดขายจากการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปประเทศออสเตรเลียของบริษัทA เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ รายจ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งปะมวลรัษฎากรหากต่อมา W ผิดเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงการจำหน่าย Preforms ทำให้ W ต้องคืนเงินค่าเครื่องเป่าขวดให้กับบริษัทA ตามอัตราส่วนที่ตกลงไว้ บริษัทA ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทA ในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกับที่มีการจ่ายเงินค่าเครื่องเป่าขวดให้แก่ W ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวไม่ถือเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทA จึงไม่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้า ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39829

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020