เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8322
วันที่: 7 พฤศจิกายน 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณต้นทุนการขายหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: -
ข้อหารือ           บริษัท A (บริษัทฯ) ประกอบธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าจำพวกอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป และด้านการลงทุน บริษัทฯ ได้นำเงินมาลงทุนซื้อหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันหลายครั้ง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
          1. หลักทรัพย์ประเภทที่ปรากฏใบหุ้น (Scrip)
          2. หลักทรัพย์ที่ไม่มีใบหุ้น (Scripless) โดยบริษัทฯ ได้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งได้เปิดไว้กับนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) หลายรายเพื่อการกระจายความเสี่ยง และได้ฝากหลักทรัพย์ที่ซื้อมาไว้ในบัญชีที่เปิดไว้กับโบรกเกอร์เหล่านั้น ดังนี้
               2.1 บริษัทหลักทรัพย์ ก
               2.2 บริษัทหลักทรัพย์ ข
               2.3 บริษัทหลักทรัพย์ ค
          นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีหลักทรัพย์ที่ไม่มีใบหุ้นส่วนหนึ่งฝากไว้ที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (บัญชี 600)
          ในการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น บริษัทฯ ต้องทำการซื้อขายตามขั้นตอนการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด กล่าวคือ เมื่อบริษัทฯ ต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ บริษัทฯ จะต้องส่งคำสั่งซื้อหรือขายผ่านโบรกเกอร์ที่บริษัทฯ เป็นลูกค้า (เปิดบัญชี) อยู่ จากนั้นโบรกเกอร์จะนำคำสั่งซื้อหรือขายนั้นส่งเข้ามายังระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเมื่อคำสั่งต่างๆ เข้าสู่ระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบบจะจัดเรียงลำดับ และจับคู่การซื้อขายตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ เมื่อมีการจับคู่การซื้อขายได้แล้ว ระบบจะยืนยันคำสั่งดังกล่าวกลับมาที่โบรกเกอร์ เพื่อให้โบรกเกอร์แจ้งกับบริษัทฯ อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ระบบจะมีการรายงานการซื้อขายไปยังบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ ตามวันเวลาที่กำหนด บริษัทฯ มีความเข้าใจ ดังนี้
          กรณีการขายหลักทรัพย์ที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาในระบบ Scripless ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีใบหุ้นและไม่มีหมายเลขหุ้น แต่บริษัทฯ สามารถระบุชี้ชัดได้ว่า หลักทรัพย์ที่บริษัทฯ ขายไปนั้น เป็นหลักทรัพย์ ที่ฝากอยู่ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ (หรือโบรกเกอร์) รายใด ดังนั้น การคำนวณต้นทุนหลักทรัพย์ ที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาในระบบ Scripless แบ่งได้ดังนี้
          1. หลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ก
          กรณีบริษัทฯ ขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ก ไปเพียงบางส่วน การคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายนั้น ให้คำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันโดยวิธีถัวเฉลี่ย เฉพาะต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ก เท่านั้น บริษัทฯ ไม่ต้องนำต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ข หรือ บล.ค หรือบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ มารวมในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายด้วย
          2. หลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ข
          กรณีบริษัทฯ ขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ข ไปเพียงบางส่วน การคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายนั้น ให้คำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันโดยวิธีถัวเฉลี่ย เฉพาะต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ข เท่านั้น บริษัทฯ ไม่ต้องนำต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ก หรือบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ มารวม ในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายด้วย
          3. หลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ค
          กรณีบริษัทฯ ขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ค ไปเพียงบางส่วน การคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายนั้น ให้คำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันโดยวิธีถัวเฉลี่ย เฉพาะต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ค เท่านั้น บริษัทฯ ไม่ต้องนำต้นทุนของหลักทรัพย์ที่อยู่ในบัญชี บล.ก หรือบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ มารวมในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายด้วย
          4. หลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์
          กรณีบริษัทฯ ขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่ฝากอยู่ในบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์โดยบริษัทฯ โอนหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ไปยังบัญชี บล.ข แล้วขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันไปเพียงบางส่วน การคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายดังกล่าว จะคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันโดยวิธีถัวเฉลี่ย เฉพาะต้นทุนหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ข เท่านั้น ซึ่งมีทั้งต้นทุนของหลักทรัพย์เดิมที่มีอยู่ในบัญชี บล.ข และต้นทุนของหลักทรัพย์ที่รับโอนมาจากบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ โดยที่บริษัทฯ ไม่ต้องนำต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ฝากอยู่ในบัญชี บล.ก หรือ บล.ค มารวมในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายด้วยบริษัทฯ ขอหารือว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ในกรณีดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ มีการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทที่ปรากฏใบหุ้น (Scrip) และหลักทรัพย์ที่ไม่มีใบหุ้น (Scripless) เมื่อบริษัทฯ ขายหลักทรัพย์ที่ได้ซื้อมาดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายไป ดังต่อไปนี้
          1. หากหลักทรัพย์ส่วนที่บริษัทฯ นำมาขายนั้น ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถระบุตัวทรัพย์ได้ชัดเจน และสามารถคำนวณมูลค่าต้นทุนที่แท้จริงในการได้หลักทรัพย์ดังกล่าวมาได้บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าต้นทุนที่แท้จริง มาคำนวณเป็นต้นทุนในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยบริษัทฯ จะนำวิธีถัวเฉลี่ยมาใช้ไม่ได้
          2. หากหลักทรัพย์ส่วนที่บริษัทฯ นำมาขายนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถระบุตัวทรัพย์ได้ชัดเจน ว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อมาในล็อตใดคราวใด และไม่สามารถคำนวณมูลค่าต้นทุนที่แท้จริงในการได้หลักทรัพย์ดังกล่าวมาได้ บริษัทฯ สามารถเลือกคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ดังกล่าวโดยใช้วิธีถัวเฉลี่ยซึ่งเป็นวิธีการทางบัญชีที่ยอมรับกันทั่วไปได้ในกรณีของหลักทรัพย์ซื้อขายผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในระบบ Scripless เมื่อบริษัทฯ ได้เลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในระบบดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จะต้องใช้วิธีการดังกล่าวตลอดไป ไม่ว่าเป็นหลักทรัพย์ชนิดเดียวกันหรือหลักทรัพย์ต่างประเภทกันก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เลขตู้: 77/39380

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020