เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1827
วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ต) มาตรา 82/5(6) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ
ข้อหารือ           บริษัท พ. (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
          1. บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับภัตตาคาร คลินิกวางแผนครอบครัว ทำการค้า และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้จ่ายค่านายหน้าให้บริษัท อ. (บริษัท อ.) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (เขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ)ตั้งอยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่มีพนักงานเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยไม่เกิน 180 วัน เพื่อตอบแทนกรณีบริษัท อ. ได้หาลูกค้ามาเช่าช่วงที่ดินกับบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะมีรายได้รับล่วงหน้า และค่าเช่าที่ดินรายเดือนจากผู้เช่าช่วงที่ดิน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 บริษัทฯ ได้โอนค่านายหน้าไปให้บริษัท อ. ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ เป็นจำนวน 5,000,000 บาท โดยบริษัทฯ มิได้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.36) จำนวน 350,000 บาท เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553จึงหารือว่า
               1.1 การจ่ายค่านายหน้าให้บริษัท อ. ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
               1.2 การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 นั้น บริษัทฯ ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ หากไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะขอคืนได้หรือไม่ หรือมีสิทธินำมาใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนภาษีถัดไป ได้หรือไม่
               1.3 กรณีบริษัทฯ มิได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป สามารถนำมาใช้เป็นเครดิตภาษีในแบบ ภ.พ.30 ภายใน 6 เดือน ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัท อ. ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ได้ให้บริการจัดหาผู้เช่าที่ดินให้แก่บริษัทฯ โดยจัดส่งพนักงานเข้ามาในประเทศไทยเพื่อดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการจัดหาผู้เช่าที่ดิน รวมระยะเวลาที่ปฏิบัติงานไม่เกิน 180 วัน ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายค่านายหน้าไปให้บริษัท อ. นิติบุคคลในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากค่านายหน้าตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หากบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ มิได้ประกอบกิจการโดยผ่านสถานประกอบการในประเทศไทยตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัท อ. บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัท อ. ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ จัดส่งพนักงานเข้ามาในประเทศไทยเพื่อให้การบริการจัดหา ผู้เช่าที่ดินให้แก่บริษัทฯ ถือเป็นกรณีบริษัท อ. เข้ามาประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่บริษัท อ. ผู้จ่ายค่าตอบแทนจึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท อ. มีหน้าที่เสียตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่น แบบ ภ.พ.36 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้แก่บริษัท อ. ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2535
          เนื่องจากการประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ นำส่งเนื่องจากการจ่ายค่านายหน้าที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่บริษัท อ. ถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้อง กับกิจการดังกล่าว จึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำไปหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 76/38479

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020