เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1416
วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2 มาตรา 80(2) มาตรา 81(1)(ณ) และมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทลูกค้า ได้แก่ บริษัท ว. (ประเทศไทย) ประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
          1. กลุ่มบริษัท ว. ซึ่งประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยมีความเชี่ยวชาญในการขนส่งสินค้าอันเกี่ยวกับการชีววิทยา เช่น เนื้อเยื่อและตัวอย่างเลือด ได้จัดตั้งบริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2546 โดยได้ร่วมกันดำเนินการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แบบ Door-to-door service
          2. ในการขนส่ง จะมีการออกใบตราส่งสำหรับการบริการทั้งสายจากผู้ส่งสินค้าจนถึงผู้รับสินค้า (House Airway Bill) และสัญญาระหว่างบริษัทในกลุ่มบริษัทเวิลด์คูเรียร์กับบริษัทสายการบิน (Master Airway Bill) โดยบริษัท ว. (ประเทศไทย) จะดำเนินการดังนี้
               2.1 กรณีการรับขนส่งโดยมีต้นทางอยู่ในประเทศไทย และมีจุดปลายทางในต่างประเทศ (ขนส่งขาออกฯ) บริษัท ว. (ประเทศไทย) จะจองเที่ยวบินและจ้างผู้รับจ้างขนส่งในประเทศ พร้อมทั้งทำการบรรจุเภสัชภัณฑ์ที่ทำการขนส่ง โดยอาจช่วยผ่านพิธีการศุลกากรด้วย
               2.2 กรณีการรับขนส่งโดยมีต้นทางอยู่ต่างประเทศ และมีจุดปลายทางในประเทศไทย (ขนส่งขาเข้าฯ) บริษัทในกลุ่ม ว. ในต่างประเทศจะนำสินค้าขึ้นเที่ยวบินที่จองไว้ และเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย บริษัท ว. (ประเทศไทย) อาจช่วยผ่านพิธีการศุลกากร ก่อนจะทำการขนส่งพัสดุไปยังสถานที่ปลายทางโดยผู้รับจ้างขนส่งที่บริษัท ว. (ประเทศไทย) เป็นผู้จ้าง
               2.3 การรับขนส่งโดยจุดต้นทางและปลายทางซึ่งอยู่ในต่างประเทศ แต่มีจุดที่พัสดุจอดแวะในประเทศไทย (ควบคุมสินค้าจอดแวะฯ) ลูกค้าจะติดต่อบริษัทในกลุ่มบริษัทเวิลด์คูเรียร์ให้ขนส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งหากมีจุดจอดแวะใน ประเทศไทย บริษัท ว. (ประเทศไทย) จะต้องดูแลและควบคุมให้พัสดุนั้นมาถึงประเทศไทยตามเวลาที่กำหนด และดูแลให้พัสดุอยู่ในสภาพที่ดี เช่น เติมน้ำแข็งแห้งเพื่อรักษาสภาพของพัสดุให้อยู่ในสภาพดีจนถึงปลายทาง
          3. กลุ่มบริษัท ว. คิดค่าธรรมเนียมจากคู่สัญญาการขนส่งตาม House Airway Bill (ผู้ส่งของ ผู้รับสินค้า เจ้าของสินค้า หรือบุคคลอื่นใดที่ผูกพันตามสัญญาที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียม) โดยคำนวณจากน้ำหนักของพัสดุตามอัตราที่กำหนด และคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในราคาต้นทุนบวกส่วนเพิ่ม สำหรับเงื่อนไขอื่นๆ ตามสัญญา เช่น การผ่านพิธีการศุลกากร หรือความต้องการพิเศษอื่นใด (การควบคุมอุณหภูมิ หรือบรรจุภัณฑ์ลักษณะพิเศษ) โดยบริษัท ว. (ประเทศไทย) จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามปริมาณการมีส่วนร่วมในการขนส่ง ดังนี้
               3.1 หากการขนส่งสินค้าเริ่มต้นโดยผ่านบริษัท ว. (ประเทศไทย) ผู้เก็บค่าธรรมเนียมทั้งจำนวน ได้แก่ บริษัท ว. (ประเทศไทย) และบริษัท ว. (ประเทศไทย) จะหักค่าธรรมเนียมสำหรับการให้บริการที่กระทำโดยบริษัทในกลุ่มเวิลด์คูเรียร์อื่นๆ ส่งให้ ว. ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งโดยกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บริหารจัดการค่าธรรมเนียมนั้น
               3.2 หากการขนส่งสินค้าเริ่มต้นโดยผ่านบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มบริษัท ว. และผู้ที่ผูกพันตามสัญญาที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียม อยู่นอกประเทศไทย บริษัท ว. (ประเทศไทย) จะส่งใบเรียกเก็บเงินไปยัง ว. เมเนจเม้นท์ฯ สำหรับส่วนที่ควรจะได้รับ
          บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
          1. บริษัท ว. (ประเทศไทย) สามารถใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เรียกเก็บจากลูกค้าในประเทศไทยสำหรับการให้บริการขนส่งตาม House Airway Bill ที่มีการรับของจากผู้ส่งในประเทศไทยและส่งไปยังผู้รับสินค้าในต่างประเทศ ใช่หรือไม่
          2. บริษัท ว. (ประเทศไทย) สามารถใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เรียกเก็บจาก ว. เมเนจเม้นท์ฯ สำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าตาม House Airway Bill ที่มีการรับของจากสนามบินระหว่างประเทศในประเทศไทยและส่งไปยังผู้รับสินค้าปลายทางในประเทศไทย ใช่หรือไม่
          3. บริษัท ว. (ประเทศไทย) สามารถใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เรียกเก็บจาก ว. เมเนจเม้นท์ฯ ตาม House Airway Bill สำหรับการส่งและการดูแลสินค้าจอดแวะฯ ที่ผ่านสนามบินระหว่างประเทศของประเทศไทย โดยไม่มีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทย ใช่หรือไม่
          4. บริษัท ว. (ประเทศไทย) ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เรียกเก็บจากลูกค้าที่อยู่นอกประเทศไทยสำหรับการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งหมายความถึง การรับสินค้าจากผู้ส่งในประเทศไทยและขนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังสนามบินในประเทศไทย และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช่หรือไม่
          5. บริษัท ว. (ประเทศไทย) ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เรียกเก็บไปยังลูกค้าหรือบริษัทในกลุ่มบริษัทเวิลด์คูเรียร์ สำหรับการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งหมายความถึง การรับสินค้าจากสนามบินระหว่างประเทศในประเทศไทยไปส่งยังผู้รับสินค้าปลายทางในประเทศไทย และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีที่บริษัท ว. (ประเทศไทย) ให้บริการขนส่งสินค้าโดยอากาศยานแบบ Door-to-door service เป็นปกติธุระ โดยให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติมจากการให้บริการขนส่งด้วย เช่น การบรรจุหีบห่อให้กับลูกค้า ดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร หากบริษัท ว. (ประเทศไทย) ให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่สามารถแยกค่าขนส่งสินค้าออกจากค่าบริการอื่นๆ ได้ บริษัท ว. (ประเทศไทย) ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากบริษัท ว. (ประเทศไทย) สามารถแยกค่าขนส่งสินค้าออกจากค่าบริการอื่นๆ ได้ จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการดังกล่าว ดังนี้
          1. กรณีการขนส่งขาออกฯ ตามข้อ 1. และข้อ 4. ไม่ว่าบริษัท ว. (ประเทศไทย) จะเรียกเก็บค่าตอบแทนดังกล่าวจากผู้ใด บริษัท ว. (ประเทศไทย) มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการขนส่งขาออกและบริการอื่นๆ ดังนี้
               1.1 บริษัท ว. (ประเทศไทย) ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้สำหรับการขนส่งสินค้าจากผู้ส่งในประเทศไทยไปยังสนามบินระหว่างประเทศในประเทศไทย เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
               1.2 บริษัท ว. (ประเทศไทย) ได้รับสิทธิอัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้สำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าโดยอากาศยาน ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าจะให้บริการขนส่งโดยใช้อากาศยานของตนเองหรือไม่
               1.3 เงินได้สำหรับการให้บริการอื่นๆ ที่เพิ่มเติมจากการให้บริการขนส่งตามข้อ 1.1 และ 1.2 เช่น การบรรจุหีบห่อให้กับลูกค้า บริษัท ว. (ประเทศไทย) ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีการขนส่งขาเข้าฯ ตามข้อ 2. และข้อ 5. ไม่ว่าบริษัท ว. (ประเทศไทย) จะเรียกเก็บค่าตอบแทนดังกล่าวจากผู้ใด บริษัท ว. (ประเทศไทย) มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
               2.1 บริษัท ว. (ประเทศไทย) ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการขนส่งของจากสนามบินระหว่างประเทศในประเทศไทยไปยังผู้รับสินค้าปลายทางในประเทศไทย เนื่องจากการให้บริการ ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
               2.2 เงินได้สำหรับการให้บริการอื่นๆ ที่เพิ่มเติมจากการให้บริการขนส่งตามข้อ 2.1 เช่น การดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร บริษัท ว. (ประเทศไทย) ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. ตามข้อ 3. บริษัท ว. (ประเทศไทย) ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เรียกเก็บจาก เวิลด์คูเรียร์ เมเนจเม้นท์ฯ ตาม House Airway Bill เพื่อการส่งและดูแลสินค้าจอดแวะฯ ที่ผ่านสนามบินระหว่างประเทศของประเทศไทย
เลขตู้: 76/38463

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020