เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/10118
วันที่: 28 พฤศจิกายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: กรณีจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ ให้ บริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกู้ยืมเงิน ต่อมาลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 โดยสาระสำคัญของแผน สรุปได้ดังนี้
               1.1 การจ่ายชำระคืนเงินต้น
                    การชำระคืนเงินต้น กำหนดให้ได้รับชำระจากกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 18.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.80 ของหนี้เงินต้น โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยลูกหนี้จะชำระเป็นรายปีภายในระยะเวลา 36 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
               1.2 เงินสดที่เจ้าหนี้อาจได้รับเพิ่มเติมมี 2 ส่วน ได้แก่
                    (1) เงินสดที่เจ้าหนี้อาจได้รับเพิ่มเติมจากบริษัทลูกหนี้ในอนาคตหากลูกหนี้ได้รับเงินชดเชยจากการเป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยในคดีหนึ่ง โดยเงินชดเชยค่าเสียหายที่อาจได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายและจ่ายชำระหนี้ในลำดับต้นก่อน คาดว่ามีจำนวนไม่เกิน 674.52 ล้านบาท โดยให้นำมาเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ตามสัดส่วนภาระหนี้เงินต้น (ส่วนของบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 7.725)
                    (2) ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เป็นสิทธิเรียกร้องประเภทเงินให้กู้ยืมระยะยาวและลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกันซึ่งถึงกำหนดชำระ ให้บริษัทลูกหนี้ดำเนินการติดตามและบังคับชำระหนี้จนถึงที่สุด แล้วนำเงินที่ได้รับมาเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายตามภาระหนี้เงินต้นของเจ้าหนี้แต่ละราย (หากพิจารณาจากงบการเงินของลูกหนี้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันซึ่งค้างชำระมานานและไม่มีโอกาสได้รับคืน)
               1.3 ผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ
                    แผนจะสำเร็จเมื่อลูกหนี้ได้ดำเนินการชำระหนี้เงินต้นจากกระแสเงินสดของกิจการตามเงื่อนไขที่ระบุ (ส่วนของบริษัทฯ ได้รับเป็นจำนวนร้อยละ 4.80 ของหนี้เงินต้น)
               1.4 ระยะเวลาดำเนินการตามแผนไม่เกิน 5 ปี
               1.5 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ เมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ลูกหนี้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า
               เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ถือว่าเจ้าหนี้ตกลงยินยอมปลดหนี้เงินต้น ดอกเบี้ยค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ และหนี้คงเหลืออื่นใดตามสิทธิเรียกร้องเดิมทั้งหมดโดยสิ้นเชิงให้กับลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิเรียกร้องที่ในส่วนของค่าเสียหายที่อาจได้รับจากคดีที่ฟ้องร้อง...(ตามเงื่อนไขเงินสดที่เจ้าหนี้อาจได้รับเพิ่มเติมข้อ (1))
          2. ต่อมาในเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ครบกำหนดชำระหนี้งวดแรก ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผน โดยยินยอมชำระหนี้ให้ในจำนวนที่สูงขึ้นแต่ขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ โดยในส่วนของบริษัทฯ จากเดิมได้รับเป็นจำนวน 18.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 ของเงินต้นแก้ไขเป็นให้ได้รับเป็นจำนวน 30.56 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.97 ของเงินต้น และขยายระยะเวลาผ่อนชำระจาก 3 ปี เป็น 7 ปี และเงินสดที่อาจได้รับเพิ่มเติม แก้ไขใหม่โดยให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระจากสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยในอีกคดีหนึ่งเพิ่มเติมจากคดีที่กำหนดในแผนฉบับแรกด้วยซึ่งคดีที่ระบุเพิ่มเติมนี้ลูกหนี้ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องและในเดือนกันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกหนี้แล้ว แต่ขณะนี้จำเลยอยู่ระหว่างการดำเนินการอุทธรณ์ (แผนเดิมไม่ได้ระบุรวมเป็นแหล่งที่มาของเงินสดที่อาจได้รับเพิ่มเติม เนื่องจากคำตัดสินของศาลแพ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่แผนฉบับแรกได้รับความเห็นชอบจากศาลแล้ว)
          3. แผนที่แก้ไขใหม่ได้ระบุจำนวนเงินสด ที่อาจได้รับเพิ่มเติมในอนาคตในวงเงินที่เพิ่มขึ้นแลชัดเจนขึ้นโดยเงินต้นคงเหลือจากการชำระหนี้จากกระแสเงินสดของกิจการตามแผน ให้ถือเป็นส่วนที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเพิ่มเติมจากเงินสดที่อาจได้รับเพิ่มเติมในอนาคตทั้งจำนวนซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีโอกาสได้รับชำระต้นเงินคืนเต็มจำนวน ในขณะที่แผนฉบับแรกเจ้าหนี้มีโอกาสได้รับเพียงบางส่วน ส่วนดอกเบี้ยคงค้างยังคงยกเว้นการชำระทั้งจำนวนเช่นเดิม
          4. คำร้องขอแก้ไขแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลเพื่อมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่แก้ไขใหม่ต่อไป
          5. บริษัทฯ จึงหารือว่า กรณีที่บริษัทฯ มีหนี้เงินต้นจำนวน 383.50 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างรับ จำนวน 460.89 ล้านบาท คำนวณถึงวันที่ 13 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฉบับแรก ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี บริษัทฯ ต้องจำหน่ายหนี้สูญเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ตามแผนฉบับแรก หรือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ตามแผนที่แก้ไขใหม่ และตัดหนี้สูญเป็นจำนวนเงินเท่าใด
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ให้บริษัท ท. หรือลูกหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันต่อมาลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 และบริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 และลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามแผนให้กับบริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน (เจ้าหนี้บริษัทในเครือและบุคคลที่เกี่ยวข้องชึ่งลูกหนี้เป็นหนี้โดยตรง) โดยจัดสรรชำระหนี้ร้อยละ 4.80 ของมูลหนี้เงินต้น ไม่มีดอกเบี้ยด้วยกระแสเงินสดของกิจการ โดยผ่อนชำระเป็นรายปีภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และกำหนดเงินสดที่บริษัทฯ อาจได้รับเพิ่มเติมจากการที่ลูกหนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีและลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องประเภทเงินให้กู้ยืมระยะยาว เมื่อดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ลูกหนี้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ถือว่าเจ้าหนี้ตกลงยินยอมปลดหนี้ตามสิทธิเรียกร้องเดิมทั้งหมดโดยสิ้นเชิงให้กับลูกหนี้ ฉะนั้น การที่บริษัทฯ เจ้าหนี้จะจำหน่ายหนี้สูญตามมาตรา 69 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการหรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิซึ่งเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความและมีหลักฐานชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้ ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในส่วนที่ได้รับการปลดหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือ ข้อ 6 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ทั้งนี้ ตามข้อ 6 ตรี และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ 2. กรณีเมื่อเดือนมีนาคม 2556 มีการขอแก้ไขเพิ่มเติมแผนฉบับแรก โดยแผนที่ขอแก้ไขกำหนดให้บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมจากร้อยละ 4.80 ของมูลหนี้เงินต้น เป็นร้อยละ 7.97 ของมูลหนี้เงินต้นและขยายเวลาผ่อนชำระจาก 3 ปี เป็น 7 ปี พร้อมทั้งกำหนดเงินสดที่บริษัทฯ อาจได้รับเพิ่มเติมจากการที่ลูกหนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีเพิ่มเติมอีกคดีหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการขอแก้ไขเพิ่มเติมแผนฉบับแรกเกิดขึ้นคนละปีกับปีที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฉบับแรก และขณะนี้แผนที่ขอแก้ไขอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหากภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติม มีผลทำให้บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมจากลูกหนี้ตามมาตรา 90/60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงมิใช่กรณีที่บริษัทฯ ปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งหากภายหลังปรากฏว่า บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามแผนฉบับแรก และหนี้ส่วนที่ได้รับเพิ่มเติมตามแผนที่ขอแก้ไข บริษัทฯ ต้องนำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระหนี้ด้วยตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38818

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020