เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9420
วันที่: 25 ตุลาคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการลดหย่อนภาษี สำหรับการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 529) พ.ศ. 2554 ข้อ 5 และข้อ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554
ข้อหารือ           ตามที่ได้เกิดภัยพิบัติอุทกภัยในช่วงปี 2554 ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ และประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จึงมีผู้มีจิตกุศลบริจาคเงินผ่านมูลนิธิ (มูลนิธิฯ) เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และมูลนิธิฯ ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคทุกท่านเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี มูลนิธิฯ จึงขอทราบว่า การบริจาคเงินดังกล่าวสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. มูลนิธิฯ มิใช่องค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาผู้บริจาคจึงไม่มีสิทธินำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนภาษีได้ แต่มูลนิธิฯ สามารถเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ตัวแทนฯ) ได้ เนื่องจากมูลนิธิฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลอื่น ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) ประกอบกับเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เมื่อมูลนิธิฯ เป็นตัวแทนฯ แล้ว ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับสิทธิยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนนั้น ตามมาตรา 5(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว และหากเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ให้ยกเว้นเพิ่มขึ้นอีกร้อยละห้าสิบของเงินบริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนนั้น ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 529) พ.ศ. 2554
          2. การเป็นตัวแทนฯ ดังกล่าว มูลนิธิฯ ต้องดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางอย่างเปิดเผย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามข้อ 5(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเงินได้ ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554 (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3) และต้องแจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี หรือสรรพากรพื้นที่ เพื่อแสดงว่า เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนฯ โดยแจ้งตามแบบคำขอแจ้งเป็นตัวแทนรับบริจาคที่มีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว ก่อนรับบริจาคหรือภายหลังรับบริจาคโดยต้องแจ้งในระหว่างการเกิดเหตุอุทกภัย หรือแจ้งภายในหนึ่งเดือนนับถัดจากวันที่เหตุอุทกภัยได้สิ้นสุดลงแล้ว ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ตามข้อ 5(3) ของประกาศอธิบดีฉบับข้างต้น
เลขตู้: 75/38333

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020