เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/727
วันที่: 29 มกราคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันแล้วจดทะเบียนขายเฉพาะส่วนของตน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 56 และมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           นาย ก. นาย ข. และนาย ค. เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันจำนวน 7 โฉนด ซึ่งได้มาโดยการซื้อจากบริษัท ม. ร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2534 ต่อมา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 นาย ก. นาย ข. และนาย ค. ได้ตกลงขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ต่างๆ ดังกล่าวให้แก่บริษัท น. (บริษัทฯ) โดยทำสัญญาซื้อขายแยกกันคนละฉบับ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนขายเฉพาะส่วนตามคำขอของผู้ขอแต่ละคน ตลอดจนเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แยกตามสัญญาแต่ละฉบับ
          จึงขอทราบว่า การที่นาย ก. นาย ข. และนาย ค. ได้ซื้อที่ดินร่วมกันมาเกินกว่า 20 ปี ต่อมา ได้ขายที่ดินดังกล่าวไป โดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแยกออกจากกันเป็นคนละฉบับนั้น จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอย่างไร
แนววินิจฉัย           1. กรณีนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ได้ซื้อที่ดินร่วมกันจาก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2534 จำนวน 7 โฉนด และเข้าถือกรรมสิทธ์ที่ดินดังกล่าวพร้อมกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกที่ดินหรือบรรยายส่วนกันไว้อย่างชัดเจน ต่อมา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ แม้จะได้ทำสัญญาซื้อขายแยกกันคนละฉบับ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนขายเฉพาะส่วนตามคำขอของผู้ขอแต่ละคนก็ตาม แต่เมื่อการถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้ง 7 โฉนดดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขายและได้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน ดังนั้น นาย ก. นาย ข. และนาย ค. จึงต้องเสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ได้ขายที่ดินที่ได้มาจากการทำนิติกรรมซื้อขาย จำนวน 7 โฉนด ซึ่งนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ได้ถือครองที่ดินดังกล่าวร่วมกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปีนั้น ไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จึงต้องคำนวณตามมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38442

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020