เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7809
วันที่: 3 กันยายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าบริการของกิจการที่ให้บริการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) มาตรา 65 และมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           สำนักงานฯ โดยสำนักตรวจสอบของสำนักงานฯ ได้ตรวจสอบบัญชีค่าจ้างลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้บริการ เช่น กิจการโรงแรม หรือกิจการภัตตาคาร (ร้านอาหาร) พบว่า ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม (Service Charges) จากลูกค้าในอัตราร้อยละของค่าห้องพัก ค่าอาหาร จากลูกค้าที่มาใช้บริการ (ส่วนใหญ่เก็บในอัตราร้อยละ 10) ซึ่งผู้ประกอบการบางรายได้แยกรายได้ค่าบริการออกจากรายได้ค่าห้องพักหรือรายได้ค่าอาหาร และผู้ประกอบการบางรายมิได้แยกรายได้ค่าบริการออกจากรายได้ค่าห้องพักหรือรายได้ค่าอาหาร โดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า โดยแจ้งว่า เงินค่าบริการดังกล่าวเป็นเงินค่าบริการ (Service Charge) ที่กิจการเรียกเก็บจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเช่าห้องพัก หรือค่าอาหาร ในอัตราร้อยละ 10 ของค่าห้องพัก ค่าอาหาร จึงไม่ใช่รายได้หรือรายรับของผู้ประกอบการ แต่เป็นเงินที่เรียกเก็บแทนลูกจ้าง เพื่อนำมาแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างทุกคนในแต่ละเดือน ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายออกไปให้ลูกจ้าง แต่เป็นเงินที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้นายจ้างจะเป็นผู้เก็บเงินค่าบริการจากลูกค้า ก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติตามประเพณีการประกอบกิจการโรงแรม ร้านอาหาร สำนักงานฯ จึงหารือว่า เงินค่าบริการที่เรียกเก็บเพิ่มในอัตราร้อยละของค่าห้องพัก ค่าอาหารและค่าบริการต่างๆ จากลูกค้าที่มาใช้บริการ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีกิจการให้บริการ เช่น กิจการโรงแรม หรือกิจการภัตตาคาร (ร้านอาหาร) เป็นต้น ได้เรียกเก็บค่าบริการ (Service charges) ในอัตราร้อยละของค่าห้องพัก ค่าอาหาร จากลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า ค่าบริการดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องพัก ค่าอาหาร ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นรายได้ของกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรเงินค่าบริการที่พนักงานได้รับจึงถูกจ่ายโดยนายจ้าง มิใช่ลูกค้าผู้รับบริการ ดังนั้น เงินค่าบริการจึงถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเพิ่ม เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานจึงต้องนำเงินค่าบริการดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
เลขตู้: 76/38734

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020