มาตรา 65 เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้ คือ
(ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องต่ออธิบดีขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีเช่นว่านี้ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต สุดแต่จะเห็นสมควร คำสั่งเช่นว่านั้นต้องแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ยื่นคำร้องทราบภายในเวลาอันสมควร และในกรณีที่อธิบดีสั่งอนุญาต ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนด
การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ในกรณีจำเป็น ผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิ และวิธีการทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคสองก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2528 เป็นต้นไป )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 8/2528 )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ ป. 16/2530 )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.78/2541 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.91/2543 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.108/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.155/2549 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.228/2557 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.262/2559 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.279/2560 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.299/2561 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.318/2563 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.55/2538 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.56/2538 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.79/2541 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.95/2543 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.111/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.113/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.123/2546 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.129/2547 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.131/2548 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.137/2552 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.139/2553 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.140/2554 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.142/2555 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.143/2555 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.148/2557 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.150/2558 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.154/2559 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.159/2564 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.160/2565 )
( ดูประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน )
มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.58/2538 )
(2) ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้หักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 319) พ.ศ.2541 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 359) พ.ศ.2542 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 385) พ.ศ.2544 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 395) พ.ศ.2545 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 406) พ.ศ.2545 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473) พ.ศ.2551 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 505) พ.ศ.2553 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 537) พ.ศ.2555 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 552) พ.ศ.2555 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 563) พ.ศ.2556 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 620) พ.ศ.2559 )
( ดูประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 51) )
การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าว ให้คำนวณหักตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.3/2527 )
(3) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจาก (6) ให้ถือตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติและในกรณีที่มีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ส่วนทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยให้หักเพียงเท่าที่ระยะเวลา และมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2535 เป็นต้นไป )
(4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั้นตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2522 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.57/2538 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.64/2539 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.95/2543 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.111/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.123/2546 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.127/2546 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.129/2547 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.131/2548 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.134/2549 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.137/2552 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.139/2553 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.140/2554 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.142/2555 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.143/2555 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.150/2558 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.154/2559 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.158/2564 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.159/2564 )
(5) เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (ข) ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เมื่อใช้วิธีการใดในการคำนวณค่าหรือราคาดังกล่าวแล้ว ให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
(ข) กรณีธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 50) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)
(6) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย
การคำนวณราคาทุนตามวรรคก่อนเมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชี ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ และการนำเข้าหรือการขายทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม )
(7) การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยเทียบกับราคาทุนของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันที่ส่งเข้าไปในประเทศอื่นได้
(8) ของมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502
(ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 50) พ.ศ. 2562)
(9) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 212 (พ.ศ. 2541) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 216 (พ.ศ. 2541) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 218 (พ.ศ. 2542) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 221 (พ.ศ. 2542) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 225 (พ.ศ. 2542) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 237 (พ.ศ. 2545) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 242 (พ.ศ. 2546) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 243 (พ.ศ. 2547) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 251 (พ.ศ. 2548) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 261 (พ.ศ. 2549) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 262 (พ.ศ. 2549) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 270 (พ.ศ. 2552) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 276 (พ.ศ. 2553) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 283 (พ.ศ. 2554) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 284 (พ.ศ. 2554) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 297 (พ.ศ. 2556) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 298 (พ.ศ. 2556) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 306 (พ.ศ. 2557) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 319 (พ.ศ. 2559) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 321 (พ.ศ. 2559) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 367 (พ.ศ. 2563) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 381 (พ.ศ. 2565) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 17 เมษายน 2546 )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดสถาบันการเงิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจาก บัญชีลูกหนี้ )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดสถาบันการเงิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 )
หนี้สูญรายใดได้นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้ว หากได้รับชำระในภายหลังก็มิให้นำมาคำนวณเป็นรายได้อีก
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้ามารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้
(ก) บริษัทจดทะเบียน
(ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวโดยถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้
เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามความในวรรคสอง
( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป )
(11) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงเท่าที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
(12) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงเท่าที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว และถ้าผู้รับเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 75 ให้นำบทบัญญัติของ (10) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2522 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 31 ธ.ค. 2522 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศกรมสรรพากร (บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมฯ) )
(13) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ไม่ต้องนำเงินค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิกหรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา แล้วแต่กรณี มารวมคำนวณเป็นรายได้
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 )
(14) ภาษีขายซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับหรือพึงได้รับ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่มิใช่ภาษีตามมาตรา 82/16 ซึ่งได้รับคืนเนื่องจากการขอคืนตามหมวด 4 ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30 ) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )
(15) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมไม่ต้องนำรายได้อันมิใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) มารวมคำนวณเป็นรายได้
( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป )
มาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
(1) เงินสำรองต่าง ๆ นอกจาก
(ก) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันชีวิตที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไรเฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 65 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันต่อออกแล้ว
ในกรณีต้องใช้เงินตามจำนวนซึ่งเอาประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายใดไม่ว่าเต็มจำนวนหรือบางส่วน เงินที่ใช้ไปเฉพาะส่วนที่ไม่เกินเงินสำรองตามวรรคก่อนสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายนั้น จะถือเป็นรายจ่ายไม่ได้
ในกรณีเลิกสัญญาตามกรมธรรม์ประกันชีวิตรายใด ให้นำเงินสำรองตามวรรคแรกจำนวนที่มีอยู่สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายนั้นกลับมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกสัญญา
(ข) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันภัยอื่นที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันต่อออกแล้ว และเงินสำรองที่กันไว้นี้จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไป
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
(ค) เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญสำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน
เงินสำรองส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นตามวรรคหนึ่ง และได้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไปแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต่อมาหากมีการตั้งเงินสำรองประเภทดังกล่าวลดลง ให้นำเงินสำรองส่วนที่ตั้งลดลงซึ่งได้ถือเป็นรายจ่ายไปแล้วนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลงนั้น
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2540 เป็นต้นไป )
(2) เงินกองทุนเว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 202 (พ.ศ.2539) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 247 (พ.ศ.2547) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 274 (พ.ศ.2553) )
(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่
(ก) รายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้หักได้ไม่เกินห้าหมื่นบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 358) )
(ข) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 444) )
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 51) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับกับการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มใน หรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป)
(4) ค่ารับรองหรือค่าบริการส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2522 เป็นต้นไป )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 222 (พ.ศ.2542) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.56/2538 )
(5) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 )
( ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 449)ฯ)
(6) เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 10/2528 ) (ยกเลิกโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 40/2560ฯ)
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 40/2528 )
(6 ทวิ) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (4) หรือภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534 )
(7) การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(8) เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร
(9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้
(10) ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง
(11) ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง
(12) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ หรือผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ เว้นแต่ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศกรมสรรพากร ลงวันที่ บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.58/2538 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.146/2557 )
(13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )
(14) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 13/2529 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.13/2528 )
(15) ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(16) ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำ
(17) ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ
(18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 10 ก.พ. 2496 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )
(19) รายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว
(20) รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (19) ตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 10 ก.พ. 2496 เป็นต้นไป )
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 504) พ.ศ.2553 )
( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 574) พ.ศ.2556 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )
มาตรา 65 จัตวา ให้องค์การของรัฐบาลเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าทอดหนึ่งทอดใดหรือทุกทอดซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อสินค้าจากองค์การของรัฐบาลตามวิธีการ อัตรา และประเภทสินค้าที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับเงินได้จากการขายสินค้านั้น
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 158 (พ.ศ. 2526) )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 351 (พ.ศ. 2562) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.144/2555 )
ภาษีที่เสียแทนตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตของผู้เสียภาษีในการคำนวณภาษี
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 31 ธ.ค. 2525 เป็นต้นไป )
มาตรา 66 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.62/2539 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชี และการคำนวณกำไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ แต่ถ้าไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิดังกล่าวแล้วได้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 7/2528 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 13/2528 )
มาตรา 67 การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ ให้เสียตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่
(1) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น
(ข) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น
(2) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่รายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
(3) เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)
มาตรา 67 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีต่ออำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
(1) ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจากที่กล่าวใน (2) ให้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้วให้คำนวณและชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(2) ในกรณีบริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 26 พ.ย. 2534 เป็่นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 107 ) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 128 ) )
ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายน้อยกว่าสิบสองเดือน
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) )
มาตรา 67 ตรี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ(1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธ ิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) ไว้ไม่ถูกต้อง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี
เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ถือเป็นค่าภาษีและอาจลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 26 พ.ย. 2534 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.120/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.121/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.142/2547 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.162/2550 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.50/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.92/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.117/2545 ) (ยกเลิกโดย ป.163/2567)
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.152/2558 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.163/2567 )
มาตรา 68 ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีต่ออำเภอ
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 126) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.62/2539 )
มาตรา 68 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65
(ดูประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนตามประมวลรัษฎากร)
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งกระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่างๆ ให้ทำบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายเกี่ยวกับค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดอันต้องเสียภาษีแทนบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชีเฉพาะกิจการขนส่งดังกล่าวแล้ว
มาตรา 69 ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 66 และมาตรา 67 เกี่ยวกับรายรับ รายจ่าย กำไรสุทธิและรายการอื่น ๆ ต่อเจ้าพนักงานประเมินตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว แล้วแต่กรณี
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.62/2539 )
( ดูประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนตามประมวลรัษฎากร )
มาตรา 69 ทวิ ภายใต้บังคับมาตรา 70 ถ้ารัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ภาษีที่หักไว้นี้ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้น ในการนี้ให้นำมาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 58 และมาตรา 59 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 111) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 292) )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 4/2526 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.130/2546 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.91/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
มาตรา 69 ตรี ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เฉพาะที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 แล้วนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน และให้นำความในมาตรา 52 วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ภาษีที่หักไว้และนำส่งตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ถูกหักภาษีตามรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้น
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับ 27 ก.พ. 2525 เป็นต้นไป )
มาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 )
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 299) พ.ศ. 2539 )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 95) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.130/2546 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.91/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.104/2544 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.114/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.136/2551 )
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้รับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยจากรัฐบาลหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
( ประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 206) พ.ศ. 2515 ใช้บังคับ 16 ก.ย. 2515 เป็นต้นไป )
มาตรา 70 ทวิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้นตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่าย
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 308) พ.ศ. 2540 สำหรับกิจการวิเทศธนกิจ )
( ดูประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้ และการยื่นรายการ )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 95) )
การจำหน่ายเงินกำไรตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง
(1) การจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรจากบัญชีกำไรขาดทุนหรือบัญชีอื่นใดไปชำระหนี้หรือหักกลบลบหนี้ หรือไปตั้งเป็นยอดเจ้าหนี้ในบัญชีของบุคคลใด ๆ ในต่างประเทศ หรือ
(2) ในกรณีที่มิได้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวใน (1) แต่ได้มีการขออนุญาตซื้อและโอนเงินตราต่างประเทศซึ่งเป็นเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปต่างประเทศ หรือ
(3) การปฏิบัติอย่างอื่นซึ่งก่อให้เกิดผลตาม (1) หรือ (2)
( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
มาตรา 70 ตรี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ตัวการ ตัวแทน นายจ้าง หรือลูกจ้าง ให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้น
ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สินค้านั้น
(1) เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ
(2) เป็นของผ่านแดน
(3) เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
(4) เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศกรมสรรพากร (สำนักงานผู้แทนนิติบุคคล) )
( ดูประกาศกรมสรรพากร (สำนักงานภูมิภาคบริษัทข้ามชาติ) )
มาตรา 71 ในกรณีที่
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 หรือมาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อนหักรายจ่ายหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้ายอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ปรากฏให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.78/2541 )
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดมิได้ลงรายการหรือลงรายการไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงตามความจริงในบัญชีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 หรือมาตรา 68 ทวิ เป็นเหตุให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีที่ขาดตามอัตราภาษีในมาตรา 67 และอาจสั่งให้ผู้ต้องเสียภาษีเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ขาดก็ได้
(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีซึ่งสั่งตามมาตรา 17 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือสั่งให้จัดบุคคลมาปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดี ณ สำนักงานของเจ้าพนักงานประเมินให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วก็ได้ ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราและวิธีการดังกล่าวใน (1)
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่น
การประเมินตามความในมาตรานี้ จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้
( ประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2520 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 31 ธ..ค 2520 เป็นต้นไป )
มาตรา 71 ทวิ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรได้กำหนด หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระในลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ให้ได้จำนวนรายได้ที่พึงได้รับและรายจ่ายที่พึงได้จ่าย หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระเสมือนว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้รับและได้จ่ายตามนั้นเพื่อใช้คำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 65 หรือเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 70 หรือมาตรา 70 ทวิ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ.2563) )
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด
(2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด หรือ
(3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
(แนววินิจฉัย กค 0702-217)
(แนววินิจฉัย กค 0702-3356)
ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามวรรคหนึ่งแล้ว มีผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ชำระภาษีไว้หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดหรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการปรับปรุงนั้นจากเจ้าพนักงานประเมินเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา 71 ตรี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นในลักษณะของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะมีอยู่ตลอดรอบระยะเวลาบัญชีหรือมีธุรกรรมระหว่างกันในรอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่ จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนด และยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นรายการภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 69
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 372))
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2564 )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2565 )
( ดูประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2565 )
ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี อาจส่งหนังสือแจ้งความแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และผู้ได้รับหนังสือแจ้งความต้องปฏิบัติตามภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีจะอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ได้รับหนังสือแจ้งความเป็นครั้งแรก ให้ผู้ได้รับหนังสือแจ้งความต้องปฏิบัติตามภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความนั้น
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 407))
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกินจำนวนหรือมีลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งจำนวนรายได้ดังกล่าวต้องกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท
( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47 พ.ศ. 2561)
ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 370 (พ.ศ.2563) )
มาตรา 72 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมินอาจสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เงินนี้ให้ถือเป็นค่าภาษี
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันดังกล่าวแล้ว เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบและภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 69 โดยอนุโลม
ถ้าผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลาตามความในวรรคก่อนได้ และได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก เมื่ออธิบดีพิจารณาเห็นสมควรจะสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้เฉพาะกรณีที่มีการชำระบัญชี อธิบดีจะสั่งให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกด้วยก็ได้
ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันโดยไม่มีการชำระบัญชี ให้ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ชำระบัญชีร่วมกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการตามที่บัญญัติไว้ในสามวรรคก่อน
มาตรา 73 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าแต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งควบเข้ากันนั้นได้เลิกกัน และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันได้ควบเข้ากันมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนแต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งให้ถือว่าเลิกกันนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 72 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และสำหรับกรณีบริษัทนิติบุคคล ให้กรรมการของบริษัทนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่มีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ชำระบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72
มาตรา 74 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันหรือควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีให้เป็นไปตามวิธีการในมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 66 เว้นแต่
(1) การตีราคาทรัพย์สิน
(ก) ในกรณีที่เลิกบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ตีตามราคาตลาดในวันเลิก
(ข) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันให้ตีตามราคาตลาดในวันที่ควบเข้ากัน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมอันได้ควบเข้ากันนั้น และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันได้ควบเข้ากันถือราคาของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมในวันที่ควบเข้ากันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น และห้ามมิให้นำผลขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
(ค) ในกรณีที่มีการโอนกิจการระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วยกันโดยที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ตีตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิกและให้นำความใน (ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 26 พ.ย. 2534 เป็นต้นไป )
(2) เงินสำรองหรือเงินกำไรยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ เฉพาะส่วนที่ยังมิได้เสียภาษีเงินได้ ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายด้วย
(3) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการประกันภัย ให้นำเงินสำรอง ซึ่งได้กันไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ตามมาตรา 65 ตรี (1) เฉพาะส่วนที่ยังมิได้นำมาเป็นรายได้มารวมคำนวณเป็นรายได้ด้วย
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง เฉพาะที่กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
มาตรา 75 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2525 ( ใช้บังคับ 27 ส.ค. 2525 เป็นต้นไป )
มาตรา 76 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2525 ( ใช้บังคับ 27 ส.ค. 2525 เป็นต้นไป )
มาตรา 76 ทวิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ประกอบกิจการในประเทศไทย และให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว
ในกรณีที่กล่าวในวรรคแรก ถ้าบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ได้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีการประเมินตามความในมาตรานี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 25 เม.ย. 2494 เป็นต้นไป )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 2/2526
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 5/2528 )
( ดูประกาศกรมสรรพากร (สำนักงานผู้แทนนิติบุคคล) )
( ดูประกาศกรมสรรพากร (สำนักงานภูมิภาคบริษัทข้ามชาติ) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.8/2528 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 13/2528 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
มาตรา 76 ตรี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน จะแจ้งต่ออธิบดีเพื่อใช้เงินตราสกุลดังกล่าวในการจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย รวมถึงการคำนวณกำไรสุทธิหรือยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และการคำนวณจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องเสียก็ได้
(ประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 392)ฯ)
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้แจ้งต่ออธิบดีแล้ว ให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น เพื่อการตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้แจ้ง และต้องใช้ตลอดไปจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
การแจ้งตามวรรคหนึ่งและการอนุมัติตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
การประเมินเงินภาษีและการแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระเพิ่มเติม หรือได้รับคืน รวมทั้งการคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และการปฏิบัติการอื่นใดของเจ้าพนักงานประเมินกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้ดำเนินการโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 373))
มาตรา 76 จัตวา เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ได้แจ้งหรือได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามมาตรา 76 ตรี แล้ว ในการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงิน ในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือจากการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน และบรรดารายการอื่นใดรวมทั้งผลขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (12) ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ที่เหลืออยู่ ณ วันนั้น ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานดังนี้
(1) เงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงิน ให้คำนวณค่าหรือราคาตามหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(ประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 393)ฯ)
(2) บรรดารายการอื่นใดรวมทั้งผลขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (12) ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ ให้คำนวณค่าหรือราคาตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน แล้วแต่กรณี
มาตรา 76 เบญจ มิให้นำมาตรา 65 ทวิ (5) มาใช้บังคับกับการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 76 ตรี แต่ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินดังกล่าวเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานดังนี้
(1) การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ แต่ในกรณีมีส่วนใดที่ไม่อาจคำนวณตามอัตราดังกล่าว ให้ขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อใช้อัตราอื่นเฉพาะส่วนนั้นได้
(ข) ใช้วิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อใช้วิธีการใดในการคำนวณค่าหรือราคาดังกล่าวแล้ว ให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
การขอและการอนุมัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 373))
(ประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 393)ฯ)
(2) การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น
มาตรา 76 ฉ การชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ และมาตรา 68 และการคืนเงินภาษีในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 76 ตรี ให้ใช้เงินตราไทย โดยให้คำนวณค่าตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันชำระภาษีหรือก่อนวันที่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้คืนเงินภาษี
มาตรา 76 สัตต ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือจากการคำนวณค่าของสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 76 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 50) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)