เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1392
วันที่: 13 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอากรแสตมป์ กรณีการขอคืนเงินภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ข้อกฎหมาย : มาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           นาย ก. ขอหารือการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีการขอคืนเงินภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
          1. นาย ก. มีชื่อในทะเบียนบ้านอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 7 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาว ศ. และเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 นาย ก. ได้ทำสัญญาขายที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ดังกล่าว ในราคา 930,000 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน 731,778 บาท ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเงิน 16,466 บาท อากรแสตมป์ เป็นเงิน 4,655 บาท
          2. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 นาย ก. ได้ทำหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โครงการหมู่บ้านฯ กับ บริษัท ร. และบริษัท พ. โดยได้ทำสัญญาแยกออกเป็นสองฉบับ ดังนี้
               ฉบับแรก หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ บริษัท ร. ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ในราคา 963,000 บาท
               ฉบับที่สอง หนังสือสัญญาจ้างเหมาปลูกสร้างกับ บริษัท ธ. ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ในราคา 1,810,000 บาท
          3. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 บริษัท ร. กับ นาย ส. ได้ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านจังหวัดปทุมธานี และนาย ส. ได้นำที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ดังกล่าว ไปจำนองไว้กับธนาคาร ก. จำนวน 2,689,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 นาย ส. ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่บ้านเลขที่ 88/643.
          นาย ก. จึงขอทราบว่า มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอากรแสตมป์ จากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมหรือไม่ หากได้รับยกเว้นจะใช้มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เท่าไร มาเป็นฐานในการคำนวณมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ใหม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อเท็จจริงนาย ก. ฝ่ายเดียวได้ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเลขที่36/54 (แห่งเดิม) ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ศ. อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นสินส่วนตัวของนาย ก. ตามมาตรา 1471 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 นาย ก. ได้ทำสัญญาขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์เป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ และในวันที่ 2 ตุลาคม 2552 นาย ก. ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 88/64 (แห่งใหม่) โดยจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในชื่อของนาย ก. ฝ่ายเดียว ถึงแม้จะแยกสัญญาซื้อที่ดินและสัญญาจ้างสร้างบ้านก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นการทำสัญญากับนิติบุคคลเดียวกันและในวันเดียวกัน โดยนาย ก. ได้โอนชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์ ของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 จึงเป็นการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองภายในกำหนดหนึ่งปีก่อนหรือนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เดิม นาย ก. จึงได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมิน จากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่คือบ้านพร้อมที่ดิน ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม และต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 ซึ่งนาย ก. ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม ตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธิขอคืนได้ โดจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยยื่นแบบ ค. 10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่นาย ก. มีภูมิลำเนา ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องแนบหลักฐานตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) ฯ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546
          2. กรณีอากรแสตมป์ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว นาย ก. ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์เท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ตามมาตรา 6 (37) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 50) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับเงินได้จากการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548 นาย ก. จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรแสตมป์
เลขตู้: 77/38897

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020