เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1251
วันที่: 10 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการแบ่งเงินได้ การหักค่าใช้จ่าย และการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการของสามีและภริยา
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(5)(8) และมาตรา 57 ฉ. แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.กรณีการแบ่งแยกเงินได้ เงินได้ประเภทเดียวกันสามารถแบ่งแยกด้วยอัตราที่ต่างกันได้หรือไม่
               ตัวอย่างที่ 1 สามีและภริยาได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จากการให้เช่าบ้าน 2 หลัง บ้านหลังแรกสามีเป็นเจ้าของ เงินได้ที่ได้รับจึงเป็นเงินได้ของสามีร้อยละ 100 ส่วนบ้านหลังที่สองสามีและภริยาเป็นเจ้าของร่วมกันและเงินได้ไม่อาจแยกได้ จึงแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง หากสามีและภริยายื่นรายการและเสียภาษีรวมกันจะสามารถแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จากค่าเช่าบ้านได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกแสดงรายการเงินได้จากค่าเช่าบ้านหลังแรกโดยแจ้งว่าเป็นเงินได้ของสามีร้อยละ 100 ครั้งที่สองแสดงรายการเงินได้จากค่าเช่าบ้านหลังที่สองโดยแจ้งว่าเป็นเงินได้ของสามีร้อยละ 50 และเป็นเงินได้ของภริยาร้อยละ 50 ได้หรือไม่
          2.กรณีการหักค่าใช้จ่าย เงินได้ประเภทเดียวกันสามารถหักค่าใช้จ่ายแตกต่างกันได้หรือไม่
               ตัวอย่างที่ 2 จากตัวอย่างข้อ 1. หากสามารถแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ 2 ครั้ง เงินได้จากค่าเช่าบ้านหลังแรกขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร เนื่องจากมีหลักฐานพิสูจน์ค่าใช้จ่าย ส่วนเงินได้จากค่าเช่าบ้านหลังที่สองขอหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ค่าใช้จ่าย สามารถทำได้หรือไม่
          3.กรณีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการ สำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.90 สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยอัตโนมัติหรือไม่
               ตัวอย่างที่ 3 สามีและภริยาได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (5) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94โดยเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน ต่อมาเมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ต่างฝ่ายต่างเลือกยื่นรายการของตนเอง การเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าวสามารถทำได้โดยอัตโนมัติหรือไม่ หรือต้องขออนุมัติจากอธิบดี
แนววินิจฉัย           1.การแบ่งเงินได้
          กรณีเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาที่ไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้แบ่งเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
               ตามตัวอย่างที่ 1. เนื่องจากบ้านหลังแรกเป็นของสามี ถ้าสามีเป็นผู้ทำสัญญาให้เช่าฝ่ายเดียว ค่าเช่าที่ได้รับจึงเป็นของสามีเพียงฝ่ายเดียว ส่วนบ้านหลังที่สองซึ่งสามีและภริยาเป็นเจ้าของร่วมกันและทำสัญญาให้เช่าร่วมกันโดยไม่ได้แยกเงินได้พึงประเมินไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ค่าเช่าบ้านที่ได้รับจึงถือเป็นเงินได้ของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสามีและภริยาเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 จะต้องแสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จากค่าเช่าบ้านทั้งหมดรวม 200 โดยเป็นส่วนของบ้านหลังแรกร้อยละ 100 บ้านหลังที่สองในส่วนของสามีร้อยละ 50 และในส่วนของภริยาอีกร้อยละ 50 อย่างไรก็ดีหากสามีและภริยาเลือกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากแยกจากกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 ของสามีจะต้องแสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จากค่าเช่าบ้านรวม 150 โดยเป็นส่วนของบ้านหลังแรกร้อยละ 100 านหลังที่สองในส่วนของสามีร้อยละ 50 และในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 ของภริยาจะต้องแสดงเงินได้พึงประเมินจากค่าเช่าบ้านหลังที่สองเฉพาะส่วนของภริยาร้อยละ 50
          2.การหักค่าใช้จ่าย
               เงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทกฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่าย 2 วิธี ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
               (1)การหักค่าใช้จ่ายเหมา เช่น เงินได้พึงประเมินจากค่าเช่าบ้านยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 30
               (2)การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ซึ่งเป็นวิธีการหักค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริง
          2.หากผู้มีเงินได้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 จากการให้เช่าทรัพย์สิน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ในแต่ละรายการ ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีเงินได้จากค่าเช่าบ้านสองหลัง ส่วนนาย ข. มีเงินได้พึงประเมินจากค่าเช่าบ้านและค่าเช่ารถยนต์ ดังนั้น กรณีค่าเช่าบ้านสองหลังของนาย ก. ซึ่งเป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินรายการเดียวกันตามมาตรา 5 (1) (ก) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 นาย ก. อาจเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับบ้านทั้งสองหลัง หรือจะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรสำหรับบ้านทั้งสองหลังก็ได้ ส่วนกรณีของนาย ข. เนื่องจากค่าเช่าบ้านเป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 5 (1) (ก) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ส่วนค่าเช่ารถยนต์เป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 5 (1) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งเป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างรายการ ดังนั้น นาย ข. อาจเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถยนต์หักตามความจำเป็นและสมควร หรือจะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรสำหรับบ้าน ส่วนรถยนต์หักค่าใช้จ่ายเหมาก็ได้
               ตามตัวอย่างที่ 2 สามีจึงมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับบ้านทั้งสองหลัง หรือหักตามความจำเป็นและสมควรสำหรับบ้านทั้งสองหลังก็ได้
          3.การเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการ
          ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงวิธีการดังต่อไปนี้จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี
               (1)กรณีเปลี่ยนแปลงส่วนของเงินได้พึงประเมินที่ไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
               (2) กรณีสามีและภริยาเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีใดไว้แล้ว ต่อมาประสงค์จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีเป็นการยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากแยกจากกัน หรือเปลี่ยนแปลงเป็นการยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันอีกวิธีหนึ่งซึ่งต่างจากเดิมที่ได้ยื่นไว้ ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากรแต่ถ้าสามีและภริยาเลือกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากแยกจากกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว ต่อมาประสงค์จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าวเป็นการยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร สามีและภริยามีสิทธิกระทำได้ โดยไม่ขออนุมัติอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษี เนื่องจากไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
               ตามตัวอย่างที่ 3 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2556 เนื่องจากสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 จากค่าเช่า โดยเลือกวิธีการยื่นรายการและเสียภาษีครึ่งปีรวมกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ตามแบบ ภ.ง.ด. 94 ไว้แล้ว ในการยื่นรายการและเสียภาษีของสามีและภริยาตอนสิ้นปี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 จึงอยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน การเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้ากรณีดังกล่าวสามีและภริยาเลือกยื่นรายการและเสียภาษีครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 แยกต่างหากจากกัน ตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นรายการและเสียภาษีของสามีและภริยาตอนสิ้นปี ตามแบบ ภ.ง.ด. 90 สามีและภริยาจะเลือกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากแยกจากกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร หรือจะเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี เนื่องจากไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 7 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
               อย่างไรก็ดี สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2555 นั้น เนื่องจากสามีและภริยาได้ยื่นรายการและเสียภาษีครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด. 94 แยกต่างหากจากกันตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2555 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 25 ธันวาคม 2555) ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการและเสียภาษีตอนสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว สามีและภริยาจึงมีสิทธิเลือกยื่นรายการและเสียภาษีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการตามมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 77/38944

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020