เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/พ./1234
วันที่: 10 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนของผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81(1)(ฉ) มาตรา 83/3(1) และมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.บริษัทฯ ประกอบกิจการขายหนังสือ ประเภทหนังสือเล่มเล็ก (พ็อกเก็ตบุ๊ค) ได้แก่ หนังสือหมวดจิตวิทยา หมวดเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น บริษัทฯ ไม่มีรายได้จากโฆษณาแต่อย่างใด บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 ระบุประเภทกิจการผลิต ขายส่ง ขายปลีก หนังสือและสิ่งพิมพ์ทุกชนิด โดยไม่ได้แจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.01.1) เนื่องจากเข้าใจผิดในข้อกฎหมายและมิได้มีเจตนาเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
          2.บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2550 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2553 แสดงเฉพาะยอดซื้อ ภาษีซื้อ ส่วนเดือนภาษีมกราคม 2554 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2554 แสดงเฉพาะยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษี ยอดซื้อ ภาษีซื้อ และได้นำภาษีซื้อจากการว่าจ้างพิมพ์หนังสือเพื่อขายไปใช้เป็นเครดิตภาษีสำหรับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดๆ ไปบริษัทฯ ยื่นคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.08) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553
          3.บริษัทฯ ขอหารือ ดังนี้
               3.1กรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01) โดยไม่ได้แจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01.1) ถือว่า บริษัทฯ ไม่มีความประสงค์เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช่หรือไม่
               3.2กรณีที่บริษัทฯ ขายส่ง ขายปลีก หนังสือ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายสำหรับรายได้ที่เกิดจากการขายหนังสือ ใช่หรือไม่
               3.3บริษัทฯ จะขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายหนังสือ ได้หรือไม่
               3.4กรณีที่บริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อจากกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปเครดิตภาษีสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ซึ่งจะต้องมีความรับผิดเสียเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะของดเบี้ยปรับทั้งจำนวน ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีที่บริษัทฯ ประกอบกิจการขายหนังสือ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01) ระบุประเภทกิจการการผลิต ซื้อมา ขายไป สิ่งพิมพ์ทุกชนิด โดยไม่ได้ยื่นคำขอแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01.1) ตามมาตรา 81/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสำคัญผิด และไม่มีเจตนานำกิจการดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีสถานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธิขอยกเลิกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
          2. กรณีที่บริษัทฯ ขายส่ง ขายปลีก หนังสือ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทฯ ไม่มีรายได้จากค่าโฆษณาแต่อย่างใด นั้น บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายแต่อย่างใด
          3. การที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) โดยนำภาษีซื้อที่เกิดจากกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไปใช้เป็นเครดิตภาษี บริษัทฯ จะต้องรับผิดเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับได้ ตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงด หรือลดเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 77/38935

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020