เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4628
วันที่: 2 กรกฎาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2513 มูลนิธิฯ โดยนาย อ. ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนฯ จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามได้รับอนุญาตให้สอนหลักสูตรอิสลามศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 1-4 ตามใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน
          2. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ได้มีการเปลี่ยนชื่อผู้รับใบอนุญาตเป็นมูลนิธิฯ โดย นาย ว. และได้รับอนุญาตขยายหลักสูตรจากเดิมเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ระดับประถมศึกษา ถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามใบอนุญาตต่างๆ
          3. โรงเรียนฯ ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการในการบริหารกิจการของโรงเรียนฯ แต่มีรายได้จากการนำที่ดินที่มีผู้บริจาคและที่ดินของโรงเรียนให้บุคคลอื่นเช่า ดังนี้
               3.1 บริษัท ป. จำกัด (ผู้เช่า) เช่าที่ดินจำนวน 2 ไร่ 77 ตารางวา ชำระค่าเช่าเป็นรายปี ปีละ 60,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 3,000 บาท ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2555 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
               3.2 บริษัท ล. จำกัด (ผู้เช่า) เช่าที่ดินจำนวน 15 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2582 ชำระค่าเช่าทุกเดือนเดือนละ 30,000 บาท และได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้สามเดือน จำนวน 90,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 4,500 บาท ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
          4. โรงเรียนฯ จึงขอทราบว่า รายได้ของโรงเรียนฯ ตามข้อ 3 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
แนววินิจฉัย           1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
          กรณีมูลนิธิฯ ได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2513 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ การดำเนินกิจการของโรงเรียนฯ จึงเป็นการดำเนินกิจการในนามของมูลนิธิฯซึ่งเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า โรงเรียนฯ เป็นโรงเรียนเอกชนในระบบซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 เป็นต้นมา (วันที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ) โรงเรียนฯ ย่อมมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โรงเรียนฯ จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น ผู้เช่าทั้ง 2 ราย ที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ค่าเช่าซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 เป็นต้นไป จึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
          2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          กรณีโรงเรียนฯ มีรายได้จากการให้ผู้เช่าทั้ง 2 รายเช่าพื้นที่ หากมีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/39140

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020