เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/642
วันที่: 23 มกราคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีโรงเรียนจ่ายค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียน และอำนาจการประเมินตรวจสอบภาษีอากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีโรงเรียนฯ จ่ายค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียน และอำนาจการประเมินตรวจสอบภาษี ของเจ้าหน้าที่ สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
          1. โรงเรียนฯ เป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้างก่อนวันที่ 12 มกราคม 2551 โดยใช้เงินทั้งหมดของโรงเรียนฯ ซึ่งยังไม่เป็นนิติบุคคล โรงเรียนฯ มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3.0 หรือไม่ อย่างไร และตามกฎหมายใด
          2. การตรวจสอบข้อเท็จจริงการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนและการยื่นแบบแสดงรายการต่างๆ สท.พะเยา สามารถที่จะตรวจสอบย้อนหลังนับจากปี พ.ศ. 2554 ไปได้อีกกี่ปี ตามกฎหมายใด
แนววินิจฉัย          1. โรงเรียนฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2498 ซึ่งไม่ปรากฏว่า โรงเรียนฯ ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ต่อมามี พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 บังคับใช้ โดยโรงเรียนฯ เข้าลักษณะเป็นโรงเรียน ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 มูลนิธิฯ ได้รับโอนโรงเรียนฯ มาไว้ในความครอบครอง ดูแลของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ และเป็นการโอนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 การดำเนินกิจการของโรงเรียนฯ นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 จึงเป็นการดำเนินกิจการในนามของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็น นิติบุคคล ตามมาตรา 122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 หากโรงเรียนฯ ได้เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 เป็นต้นมา สามารถพิจารณาหน้าที่การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้ ดังนี้
          1.1 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2551 หากโรงเรียนฯ ได้จ่ายค่าจ้างทำของให้แก่ บุคคลธรรมดาที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือจ่ายค่าจ้างทำของ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในนามของมูลนิธิฯ มูลนิธิฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8(1) หรือ (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          1.2 ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 เป็นต้นไป หากโรงเรียนฯ ได้จ่ายค่าจ้างทำของให้แก่บุคคลธรรมดาที่เข้า ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือจ่ายค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในนามของโรงเรียนฯ โรงเรียนฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8(1) หรือ (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          2. อำนาจการตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมิน สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
          2.1 กรณียื่นรายการไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่สมบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียก ผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่น อันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ การออกหมายเรียกดังกล่าวจะต้องกระทำภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันยื่นรายการ เว้นแต่กรณี ปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออก หมายเรียกดังกล่าวได้เกินกว่า 2 ปี ก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันยื่นรายการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
          2.2 กรณีไม่ยื่นรายการ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียก พยานกับสั่งให้ผู้ที่ไม่ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ ตามมาตรา 23 แห่งประมวล รัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดเวลาการออกหมายเรียกไว้แต่อย่างใด จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียก สำหรับกรณีไม่ยื่นรายการภายในอายุความ 10 ปี
          3. กรณีร้องเรียนต่อ สท.พะเยา ให้ตรวจสอบการเสียภาษีของโรงเรียนฯ มูลนิธิฯ กรณีดังกล่าว ตามข้อ 2(1) และ (2) ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรที่ ศน.7/2554 เรื่อง การดำเนินการหนังสือร้องเรียนแหล่งภาษี ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้บุคคลสามารถทำหนังสือร้องเรียน แจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรได้ ดังนั้น แม้นายเธียรฯ จะไม่มีส่วนได้เสียหรือไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนฯ และมูลนิธิฯ หากเห็นว่า มีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรก็สามารถร้องเรียนได้
เลขตู้: 75/37990

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020