เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/909
วันที่: 31 มกราคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงที่เป็นค่าที่พักเหมาจ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ แจ้งว่า กรณีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ได้วางแนวทางปฏิบัติกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้าง หรือผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรือผู้รับทำงานให้ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่นอกสำนักงานหรือนอก สถานที่เป็นครั้งคราว หากบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการ กำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าว ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นโดย ไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์ แต่หากบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยง สูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศ หรือต่างประเทศ และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงาน ตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริต ตามความจำเป็นเพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ
          บริษัทฯ จึงขอหารือว่า กรณีพนักงานของบริษัทฯ เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงที่เป็นค่าที่พักเหมาจ่ายเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด เฉพาะส่วนที่ไม่เกินอัตราที่ทางราชการกำหนดในลักษณะเหมาจ่ายจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ต้องนำไปรวมเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้างหรือผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรือผู้รับทำงานให้ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่นอกสำนักงานหรือนอกสถานที่เป็นครั้งคราวในลักษณะเหมาจ่าย กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538ฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ดังนี้
          1. หากบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนด จ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่ กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่าย ไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นโดยไม่ต้องมี หลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์
          2. หากบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่าย ให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ และบุคคล ดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและ ได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ
          คำว่า "เบี้ยเลี้ยง" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "เงินที่จ่ายให้เป็นค่าอาหารประจำวัน ในกรณีที่ออกทำงานนอกสถานที่ตั้งประจำ" ดังนั้น ค่าเบี้ยเลี้ยงจึงหมายถึงเฉพาะค่าอาหารประจำวันเท่านั้น ประกอบกับ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้เดินทางไปปฏิบัติราชการนอกสถานที่เบิกค่าใช้จ่ายได้ โดยแยกเป็นบัญชีค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและ บัญชีค่าเช่าที่พัก ดังนั้น ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538ฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 จึงหมายถึงเฉพาะเงินที่จ่ายเป็นค่าอาหารประจำวันเท่านั้นไม่รวมถึงค่าเช่าที่พัก
          กรณีค่าเช่าที่พัก หากเป็นการจ่ายให้กับพนักงานเพื่อปฏิบัติงานตามหน้าที่ในทางการที่จ้างและตามระเบียบ ที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้สำหรับพนักงานเป็นการทั่วไป หากพนักงานได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นและสมควรเฉพาะ ในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น จึงไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่ม ของพนักงานแต่อย่างใด
เลขตู้: 75/909

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020