เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./3764
วันที่: 2 พฤษภาคม 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่า โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ เช่าอาคารสำนักงานและอาคารโรงงานจากบริษัท ก. (ผู้ให้เช่า) เป็นเวลา 3 ปี สัญญาเช่ากำหนดว่าผู้ให้เช่าอนุญาตให้บริษัทฯ ต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่าได้ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า บริษัทฯ ต้องรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมหรือปรับปรุงดังกล่าว
          2. บริษัทฯ ขอทราบว่า การต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่า ดังนี้ จะขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่
               (1) ปรับปรุงอาคารสำนักงานและอาคารโรงงาน โดยกั้นห้องด้วยกระจกผนังเบา ซึ่งทำด้วยแผ่นยิปซัม หรือตะแกรงลวดเหล็กและปูพื้นด้วยกระเบื้องยาง
               (2) ต่อเติมห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิง
               (3) ก่อสร้างบ่อน้ำปูนซิเมนต์เพื่อใช้เก็บน้ำหากเกิดเพลิงไหม้ และสร้างโรงรถ ด้วยโครงเหล็กมุงกระเบื้องหลังคาเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า บริษัทฯ ได้รื้อถอนส่วนที่ได้ต่อเติมหรือปรับปรุงบางส่วนไปใช้ที่โรงงานแห่งใหม่ เช่น บานประตูกระจกที่มีกรอบเป็นอลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนที่ไม่สามารถใช้กับโรงงานแห่งใหม่ได้และผู้ให้เช่าต้องการไว้ใช้ประโยชน์ เช่น ห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิง บริษัทฯ จะยกให้ ผู้ให้เช่า แต่ถ้าผู้ให้เช่าไม่ต้องการ เช่น ผนังเบาทำด้วยแผ่นยิปซัม บริษัทฯ ก็จะทำการรื้อถอน
แนววินิจฉัย           1. กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงอาคารสำนักงานและอาคารโรงงานที่เช่าโดยกั้นห้องด้วยกระจกผนังเบาซึ่งทำด้วยแผ่นยิปซัมหรือตะแกรงลวดเหล็กและปูพื้นด้วยกระเบื้องยาง ตามข้อเท็จจริงข้างต้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคาร ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการปรับปรุงดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ไม่เข้าลักษณะเป็น ภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และหากภาษีซื้อดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีอื่นตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
          2. กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงในอาคารที่เช่าเพื่อใช้เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิงตามข้อเท็จจริงข้างต้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคาร ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการต่อเติมดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และหากภาษีซื้อดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีอื่นตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกับกรณีตาม 1.
          3. กรณีการก่อสร้างบ่อน้ำปูนซิเมนต์เพื่อเก็บน้ำ และการสร้างโรงรถด้วยโครงเหล็ก มุงกระเบื้องหลังคาบนอาคารหรือบนที่ดินที่เช่า เข้าลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น การนำอาคารดังกล่าวมาเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขายหรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำไปหัก ออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) ประกอบกับ ข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้:76/38600

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020