เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./3959
วันที่: 9 พฤษภาคม 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีค่าที่ปรึกษาที่ถูกหักเงินประกันผลงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79 มาตรา 82/4 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           สนง. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สนง. ได้รับเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพให้แก่สำนักงาน ก. ตามสัญญาจ้างที่ปรึกษา ต่อมา ก. ได้ชำระเงินค่าที่ปรึกษาให้ สนง. เป็นจำนวนเงินหลังจากหักเงินประกันผลงานร้อยละ 5 ในงวดที่ 1 และงวดที่ 2 สนง. จึงได้ออกใบกำกับภาษีตามจำนวนเงินที่ สนง. ได้รับจริง สนง. ขอทราบว่า การออกใบกำกับภาษีดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ และหากไม่ถูกต้อง สนง. ต้องดำเนินการอย่างไร และต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจากการออกใบกำกับภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย           1. เงินประกันผลงานที่ ก. หักจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดตามสัญญาดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ดังนั้น สนง.ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ สนง. ได้รับ หรือพึงได้รับจากการให้บริการก่อนหักเงินประกันผลงานมาถือเป็นฐานภาษี เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. สนง. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปโดยมีมูลค่าบริการที่ได้รับไม่ถูกต้อง ดังนั้น สนง. ต้องยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ดังนี้
               2.1 สนง. ต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมจาก ก. และนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ"ขีดฆ่า" แล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
               2.2 สนง. ต้องจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ
               2.3 สนง. ต้องหมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ..... เล่มที่ ....." และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
          3. ก. จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ฉบับที่ยกเลิก) เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับเดิมให้กับ สนง. นำไปรวมกับสำเนาไว้เป็นหลักฐาน
          4. กรณี สนง. ได้ออกใบกำกับภาษีมีรายการครบถ้วน ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่มูลค่าบริการที่ได้รับไม่ถูกต้อง สนง. ไม่ต้องรับผิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และโทษปรับทางอาญา แต่อย่างใดทั้งนี้ ตามมาตรา 89 มาตรา 89/1 และมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38611

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020