เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7393
วันที่: 6 ตุลาคม 2557
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามสัดส่วนของรายได้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ           1.บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตทูน่ากระป๋องและอาหารสำเร็จรูปอื่นเพื่อส่งออก รายได้ประมาณร้อยละ 98 ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และรายได้อื่นที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 นอกจากนี้ยังมีรายได้อื่นๆ ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เช่น การขายหัว หาง ก้าง ไส้ เศษซากปลาที่เป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตให้บุคคลภายนอก และรายได้จาก ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์
          2.ในปี 2556 บริษัทฯ ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานใหม่ ณ สถานที่แห่งใหม่ที่มีทำเลที่ตั้ง แยกจากโรงงานเดิม โดยโรงงานใหม่มีทั้งอาคารโรงงานผลิต ห้องเย็นเก็บวัตถุดิบ อาคารคลังสินค้า อาคารสำนักงาน กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณสิ้นปี 2557 หรือต้นปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารทั้งจำนวนมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมิได้มีการเฉลี่ยภาษีซื้อ เนื่องจากเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เมื่อบริษัทฯ มีรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมดแล้ว บริษัทฯ ไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ และเนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารได้ว่าอาคารส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มบริษัทฯ จึงขออนุมัติ
               1.ยกเว้นไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ เนื่องจากสัดส่วนรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผ่านมาไม่เคยมีสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 98 และในปีที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 98.79 คงเหลือสัดส่วนรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1.21
               2.หากกรณีตามข้อ 1 ไม่สามารถอนุมัติได้ บริษัทฯ ขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างโรงงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนรายได้แทนการเฉลี่ยภาษีซื้อตามประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ทั้งนี้ อัตราการปันส่วนตามแบบ ภ.พ.30 ของปี 2556 คือมีสัดส่วนรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 98.79 ซึ่งบริษัทฯ จะเริ่มยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยทำการเฉลี่ยภาษีซื้อให้ถูกต้องตั้งแต่เดือนภาษีเมษายน 2557 เป็นต้นไป ส่วนเดือนภาษีก่อนหน้านี้จะยื่นแบบเพิ่มเติมเมื่อได้รับการอนุมัติ
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานใหม่ แยกจากโรงงานเดิม โดยโรงงานใหม่มีทั้งอาคารโรงงานผลิต ห้องเย็นเก็บวัตถุดิบ อาคารคลังสินค้า อาคารสำนักงานเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ทั้งประเภทที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารได้ว่า พื้นที่ส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และพื้นที่ส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคารตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว จึงอนุมัติให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของกิจการในปีที่ผ่านมา และให้นำภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 2 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 77/39294

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020