เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./3267
วันที่: 17 เมษายน 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81/1(2) มาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้บริการ ผู้ว่าจ้างต่างประเทศซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ผู้ว่าจ้างต่างประเทศ ดังนี้
          1. การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาวัสดุ (Material Development Services)
          2. การให้บริการประเมินและควบคุมการผลิตวัสดุ (Material Supply Planning Services)
          3. การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาตัวสินค้า (Product Development Services)
          4. การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตตัวสินค้า (Production Services)
          5. การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการขนส่งสินค้า (Logistic Services)
          6. การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการกำหนดต้นทุนการผลิตสินค้า (Costing Services)
          7. การให้บริการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าก่อนเป็นคู่ค้ากับผู้ว่าจ้างต่างประเทศ (SMP Services)
          8. การให้บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ผลิตตามคำสั่งผู้ว่าจ้างต่างประเทศ (Quality Engineering Division Services)           บริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาว่าการให้บริการใดได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 81/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องพิจารณาเป็นรายกิจการหรือรายธุรกรรมบริการแยกออกจากกันไม่ว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้สัญญาเดียวกันหรือไม่ และไม่ต้องพิจารณาธุรกรรมที่ผู้ว่าจ้างต่างประเทศจะกระทำต่อบุคคลภายนอก และบริษัทฯ เห็นว่า บริการตามข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 6 เป็นบริการที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ส่วนบริการตามข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 7 และข้อ 8 เป็นบริการที่ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 บริษัทฯ จึงขอหารือว่าความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           1. ในกรณีที่สัญญาให้บริการแยกส่วนของค่าบริการสำหรับการให้บริการที่ได้ใช้บริการในต่างประเทศกับส่วนที่ได้ใช้บริการในประเทศไทย โดยบริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการแยกตามประเภทที่กำหนดในสัญญานั้น เฉพาะส่วนของค่าบริการสำหรับการให้บริการที่ได้มีการใช้บริการในต่างประเทศที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตาม หากสัญญาการให้บริการระหว่างบริษัทฯ กับผู้ว่าจ้างต่างประเทศ ไม่ได้แยกส่วนของบริการที่ได้มีการใช้บริการในต่างประเทศ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าวทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่ว่าการให้บริการนั้นจะเป็นการให้บริการตามสัญญาเดียวกันหรือไม่
          2. การให้บริการที่ได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ดังนั้น หากธุรกรรมระหว่างผู้ว่าจ้างต่างประเทศกับลูกค้าของผู้ว่าจ้างต่างประเทศเป็นผลของการให้บริการในราชอาณาจักรโดยบริษัทฯ ก็ต้องพิจารณาธุรกรรมดังกล่าวด้วย
          3. ค่าตอบแทนสำหรับการให้บริการแก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศตามสัญญาดังกล่าว อาจพิจารณาได้ดังนี้
          3.1 การให้บริการเป็นผู้จัดหาโรงงานหรือผู้ผลิตวัสดุในประเทศไทย (Material Development Services) ตามข้อ 1. การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาตัวสินค้า (Product Development Services) ตามข้อ 3. และการให้บริการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าก่อนเป็นคู่ค้ากับผู้ว่าจ้างต่างประเทศ (SMP Services) ตามข้อ 7. เป็นการให้บริการข้อมูลเพื่อให้ผู้ว่าจ้างต่างประเทศหรือลูกค้าของผู้ว่าจ้างต่างประเทศตัดสินใจว่าจะจ้างโรงงานหรือผู้ผลิตในประเทศไทยหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
          3.2 การเป็นผู้ดูแล ให้ความช่วยเหลือและประสานงานกับโรงงานหรือผู้ผลิตวัสดุ (Material Supply Planning Services) ตามข้อ 2. และการให้บริการให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตตัวสินค้า (Production Services) ตามข้อ 4. เป็นการให้บริการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาร่วมกับโรงงานในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องแล้ว
          3.3 การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการขนส่งสินค้าผลิตเสร็จออกนอกประเทศ (Logistic Services) ตามข้อ 5. เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร โดยให้หมายถึง บริการที่ทำในราชอาณาจักรโดยไม่คำนึงว่าการใช้บริการนั้นจะอยู่ในต่างประเทศหรือในราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องแล้ว
          3.4 การให้บริการให้ความช่วยเหลือในการกำหนดต้นทุนการผลิตสินค้า (Costing Services) ตามข้อ 6. เป็นการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเพื่อการกำหนดต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมหรือเจรจาต่อรองค่าจ้างในการผลิตสินค้ากับโรงงานหรือผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ หากสัญญาระหว่างบริษัทฯ และผู้ว่าจ้างต่างประเทศไม่ได้แยกค่าตอบแทนสำหรับข้อมูลที่ใช้ในการควบคุมหรือเจรจาต่อรองค่าจ้างในการผลิตสินค้ากับโรงงานหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศซึ่งเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ออกจากข้อมูลที่ใช้ในการควบคุมหรือเจรจาต่อรองค่าจ้างในการผลิตสินค้ากับโรงงานหรือผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าวทั้งหมด
          3.5 การให้บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ผลิตตามคำสั่งผู้ว่าจ้างต่างประเทศ (Quality Engineering Division Services) ซึ่งบริษัทฯ ทำการอบรมให้แก่โรงงานหรือผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ ตามข้อ 8. เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าว ความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 76/38561

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020