เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ.3519
วันที่: 24 เมษายน 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3 และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2539 และได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2548 มีทุนจดทะเบียน 340 ล้านบาท ทุนชำระแล้ว 255 ล้านบาท บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ประกอบกิจการการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้จากการขายยางพาราในประเทศ บริษัทฯ มีสถานประกอบการจำนวน 4 แห่ง สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ จังหวัดภูเก็ต สาขาที่ 1 ตั้งอยู่จังหวัดภูเก็ต สาขาที่ 2 ตั้งอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสาขาที่ 3 ตั้งอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช
          2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้อง ขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามสัดส่วนรายได้ของปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปี 2550 และ 2551 บริษัทฯ ได้มีการก่อสร้างอาคารโรงงานที่สาขาที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสาขาที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อาคารที่ก่อสร้างเป็นอาคารที่ใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถทำการแบ่งแยกพื้นที่ที่ใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ บริษัทฯ จึงทำการเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร โดยเฉลี่ยตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา และสิ้นปีบริษัทฯ จะทำการปรับปรุงอัตราการเฉลี่ยให้เป็นไปตามรายได้ที่แท้จริงของแต่ละกิจการ ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อการอื่นให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว และให้นำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขาย ซึ่งบริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารโดยวิธีอื่นนอกจากที่ประกาศกำหนดไว้ บริษัทฯ จึงยื่นคำร้องเพื่อขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรในการเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา และมีสิทธินำภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานสรรพากรพื้นที่ จึงส่งคำร้องของบริษัทฯ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้อธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคารโรงงานที่สาขาที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารจากองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำใหญ่ ตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ประเภทกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไม่สามารถแยกสัดส่วนของการใช้พื้นที่อาคารได้ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงใช้ในกิจการทั้งสองประเภท เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารได้ว่า ส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่วนใดใช้สำหรับกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเห็นควรอนุมัติให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารตามสัดส่วนรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการ และให้นำภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
          2. กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคารโรงงานที่สาขาที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัทฯ ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม และได้รับอนุมัติให้ทำการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมได้ (อบต. ไม่ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (อ.1) แต่แจ้งให้ต่อเติมเป็นหนังสือแทน) ซึ่งมีความว่า "องค์การบริหารส่วนตำบล ขอแจ้งทางบริษัท เมืองใหม่ฯ ว่า มีความยินดีและเห็นควรที่บริษัทจะต่อเติม - ขยาย โรงงานได้" เนื่องจากมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า
          "ก่อสร้าง" หมายความว่า สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่
          "ดัดแปลง" หมายความว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยาย ซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคาร หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิมและมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง
          ดังนั้น กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล ให้บริษัทฯ ต่อเติม - ขยายโรงงาน จึงเข้าลักษณะเป็นการดัดแปลงตามคำนิยามดังกล่าว ไม่ถือเป็นการก่อสร้างอาคารตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออันเกิดจากการดัดแปลงอาคารที่นำมาใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 76/38607

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020